svasdssvasds

นักท่องเที่ยวอินเดีย แห่จองท่องเที่ยวไทยผ่านแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่ม 60%

นักท่องเที่ยวอินเดีย แห่จองท่องเที่ยวไทยผ่านแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่ม 60%

รัฐบาลเผยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียจองเที่ยวไทยบนแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่มขึ้นกว่า 60% ช่วงวันหยุดเทศกาลพบการค้นหาทะลุ 200% เป็นผลจากมาตรการ Visa Free ของนายกฯ

SHORT CUT

  • ผลสำเร็จของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของนายกฯ ในการขยายระยะเวลา Visa Free ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดียชั่วคราวอีก 6 เดือน
  • ข้อมูลการจองที่พักในช่วงปี 2565 – 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวอินเดียจองที่พักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 60%
  • ในปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว มีชาวอินเดียค้นหาที่พักในประเทศไทยบนแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่มขึ้นมากกว่า 200%

รัฐบาลเผยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียจองเที่ยวไทยบนแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่มขึ้นกว่า 60% ช่วงวันหยุดเทศกาลพบการค้นหาทะลุ 200% เป็นผลจากมาตรการ Visa Free ของนายกฯ

วันที่ 2 มิถุนายน 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลสำเร็จของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการขยายระยะเวลาการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ Visa Free ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดียเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม - 11 พฤศจิกายน 2567 นั้น

ล่าสุด แพลตฟอร์ม Airbnb ได้เปิดเผยข้อมูลการจองที่พักในช่วงปี 2565 – 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวอินเดียจองที่พักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 60% โดยในปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว เช่น เทศกาลโฮลี (Holi Festival) และเทศกาลอีสเตอร์ (Easter) มีชาวอินเดียค้นหาที่พักในประเทศไทยบนแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่มขึ้นมากกว่า 200%

โดยมีจุดหมายปลายทางยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. กรุงเทพฯ
  2. ภูเก็ต
  3. เชียงใหม่
  4. กระบี่
  5. เกาะสมุย

จากข้อมูล Airbnb พบว่าชาวอินเดียมีความชื่นชอบ และสนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดย Airbnb อธิบายว่า เทรนด์การท่องเที่ยวไทยของชาวอินเดียส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ (New Gen) โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่จองที่พักบน Airbnb มากถึง 80% ของนักท่องเที่ยวอินเดียทั้งหมด เนื่องจากอินเดียมีประชากรกลุ่ม Gen Z และ Gen Y มากที่สุดในโลก

โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมในประเทศไทยของนักเดินทาง Airbnb ชาวอินเดีย 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และเกาะสมุย ส่วนประเภทที่พัก Airbnb ในไทยที่มีนักท่องเที่ยวอินเดียเลือกจองมากที่สุด ได้แก่ สระว่ายน้ำ เขตร้อน ชายหาด อุทยานแห่งชาติ และเมืองดัง

อีกทั้งนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางแบบกลุ่มขนาดเล็ก (3-5 คน) และกลุ่มขนาดกลาง (5 คนขึ้นไป) มีการเติบโตเร็วที่สุด โดยนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดเล็ก เดินทางเพิ่มขึ้น 67% และนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดกลาง เดินทางเพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน

นอกจากนี้ นายอมันพรีท บาจาจ ผู้จัดการทั่วไปประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน ของ Airbnb เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวอินเดียเริ่มให้ความสนใจในการเดินทางไปยังสถานที่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น และยังเป็นการช่วยกระจายเศรษฐกิจไปยังชุมชนต่าง ๆ ไม่เพียงแค่เมืองใหญ่เท่านั้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเเละเเนวทางการตรวจลงตรา ทั้งหมด 3 ระยะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมาตรการที่สำคัญเเละจะเริ่มใช้ต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ เช่น

  • การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Free) สามารถพำนักในประเทศไทย ไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ และการทำงานระยะสั้น จำนวน รวม 93 ประเทศ/ดินแดน ประกอบด้วย (1) ประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 เดิม 57 ประเทศ/ดินแดน และ (2) เพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 ใหม่ 36 ประเทศ/ดินแดน
  • การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) จากเดิม 19 ประเทศ เพิ่มรวมเป็น 31 ประเทศ
  • การเพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อให้คนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (Remote worker หรือ Digital nomad) ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทย สามารถมาทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกันได้ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นการดำเนินมาตรการเชิงรุกของไทยในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ Visa Free สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related