SHORT CUT
“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังสามารถติดโควิดซ้ำได้ แม้ก่อนหน้านี้จะเคยติดมาแล้ว 3 ครั้ง อาจการบอกสังคมไทยอย่างชัดเจนว่า เชื้อโควิด-19 นั้นยังคงมีความน่ากลัวอยู่
ทั้งนี้เป็นเวลากว่า 4 ปี ที่เชื้อไวรัสโคโรนา หรือ “โควิด-19 (Covid 19) ระบาดไปทั่วโลก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน โดยในปี 2019 ถือว่ารุนแรงที่สุด เพราะเป็นเชื้อที่ระบาดมาจากอู่ฮั่น และเวลานั้นยังไม่มีวัคซีนรักษาที่เชื่อถือได้
หลังจากนั้น จึงมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่แยกย่อยต่างๆ ซึ่งมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป และสุดท้ายก็ถูกนำออกจากโรคติดต่ออันตราย และกลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) เห็นว่าคนส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิคุ้มกัน และวัคซีนรักษาก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น
แต่ถึงแม้ ความอันตรายของเชื้อโควิดจะน้อยลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ยังมีคนติดโควิดซ้ำซาก อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะโควิด แพร่ระบาดคล้ายไข้หวัด จึงเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงติดง่าย
ทว่าสิ่งที่น่าสงสัยคือ ทำไมบางคนถึงติดโควิดง่ายๆ แทบทุกซีซั่น ในขณะที่บางคน แม้จะผ่านการระบาดมากี่ครั้ง แต่ก็ไม่เคยติดเลยแม้แต่ซีซั่นเดียว
เป็นเพราะพวกเขาแข็งแรง หรือเพราะพวกเขาแค่โชคดีเฉยๆ มาดูเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้กัน !
ก่อนอื่น ต้องมองกรณีของคนที่ติดโควิดซ้ำก่อน ตามปกติแล้ว คนที่หายจากการติดโควิดรอบแรกได้ ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเยอะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน แต่โดยปกติแล้ว ภูมิจะอยู่ได้ 3-6 เดือน หลังจากนั้น จะมีโอกาสที่จะติดโควิดอีกได้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ระบุว่า มีการติดเชื้อซ้ำมากกว่า 2.7 ล้านครั้งในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2021 - 2022 ซึ่งหมายความว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ติดเชื้อโควิดมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี
ทั้งนี้ ไม่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า ทำไมบางคนถึงติดโควิดมากถึง 3-4 ครั้ง หรือบางรายที่อาจแตะ 5 -6 ครั้ง ส่วนการติดซ้ำจะอันตรายหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และร่างกายของแต่ละคน แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเกี่ยวข้อง สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่วงการแพทย์บอกได้คือ ผู้ที่มีภาวะ “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency)” ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อครั้งแรกจะไม่แข็งแรงมาก
อีกเหตุผลที่อ้างอิงจากงานวิจัยของ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล Mount Sinai ในนิวยอร์ก คือ หากที่ติดเชื้อโควิดครั้งแรกกินเวลานาน อาจทำให้ติดซ้ำได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น และผู้ที่มีการติดเชื้อหลายครั้งมีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 เพียงครั้งเดียวถึง 3 เท่า และอยู่โรงพยาบาลนานกว่าถึง 6 เดือน
สาเหตุที่ทำให้คนติดบ่อยอีกอย่าง คือ เพราะไวรัสยังคงกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่เชื้อไวรัสเป็นคนละสายพันธุ์กัน อาจจะทำคนที่เคยติดสายพันธุ์เก่าไปแล้ว กลับมาติดใหม่ได้ง่าย เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่สามารถต้านทานพลังของเชื้อตัวใหม่ได้
สรุปคือ การติดโควิดซ้ำ อาจไม่มีอาการรุนแรงเท่ารอบแรก แต่ไม่ว่าอย่างไรการติดซ้ำ ก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะเชื้อโควิดนำมาสู่ ปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไต และจิตใจอีกด้วย ซึ่งความเสี่ยงดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนครั้งที่ติดเชื้อด้วย
แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงติดโควิดมากที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุมาก โรคก็มาก ภูมิคุ้มกันก็แย่ลง การฟื้นตัวก็ช้าเป็นธรรมดา หากคนอายุเยอะ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวกับ ระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว ความเสี่ยงที่จะติดโควิดซ้ำก็ยิ่งมีมากขึ้น และมักมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ถือเป็นเรื่องน่าแปลก แม้โควิดจะระบาดหนัก และกลายพันธุ์ไปขนาดไหน ก็ยังมีคนจำนวนมาก ที่รอดมาได้ทุกซีซั่น ไม่มีอาการเลยสักครั้ง โดยคนกลุ่มนี้เรียกว่า “โนวิด (Novid)” ซึ่งในปี 2023 ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าประเทศไทย มีคนกลุ่มนี้อยู่ที่ จำนวน 20%
ในปี 2023 วารสารวิทยาศาสตร์ “Nature” ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอังกฤษ เผยว่าคนที่มีรูปแบบทางพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจงของโปรตีนในร่างกาย มีแนวโน้มที่จะไม่แสดงอาการของโควิดเลย แม้ว่าพวกเขาจะติดเชื้อไวรัสก็ตาม
โดยปกติทั่วไป โปรตีนจะมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันและเป็นส่วนหนึ่งของ “คอมเพล็กซ์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์ (HLA)” ซึ่งเป็นครอบครัวของยีนที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถแยกแยะระหว่างโปรตีนในร่างกายกับโปรตีนที่เกิดจากไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่บุกรุกเข้ามาได้
การศึกษาพบว่า 20% ของผู้ที่ไม่เคยมีอาการโควิด มียีนที่เรียกว่า HLA-B*15:01 อย่างน้อยหนึ่งชุด เทียบกับเพียง 9% ของผู้ที่มีอาการ และผู้ที่มียีนนี้สองชุดมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อ แต่ยังคงไม่มีอาการ มากกว่าผู้ที่ไม่มี HLA-B*15:01 ถึง 8 เท่า
เมื่อไวรัสแพร่ระบาดไปยังเซลล์ โปรตีน HLA จะเก็บตัวอย่างไวรัสและกักไว้บนพื้นผิวของเซลล์ สิ่งนี้ทำหน้าที่เป็นสัญญาณประเภทหนึ่งที่ส่งสัญญาณถึงที่เซลล์ที่สามารถรับรู้ถึงภัยคุกคามได้ เมื่อมีใครก็ตามเข้ามา มันจะโจมตีและฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อ
ในกรณีของผู้ที่มีตัวแปร HLA-B*15:01 กระบวนการนี้ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าปกติ ทำให้ทีเซลล์ทำงานได้เร็วขึ้นเพื่อฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสก่อนที่อาการจะมีอาการแสดง
กล่าวคือ พวกเขาอาจไม่ได้รอดจากเชื่อโควิด แต่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ จึงดูเหมือนไม่ได้รับเชื้อนั่นเอง เพราะ ยีน HLA-B*15:01 จะกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้เร็วขึ้นเพื่อฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อก่อนมีการแสดงอาการ ซึ่งการวิจัยนี้ สามารถพัฒนายาวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
สรุปคือ การที่บางคนติดโควิดบ่อย อาจเป็นเพราะร่างกายมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว หรือไม่ก็ชอบพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วนคนที่ไม่เคยติดเลยสักครั้ง ก็อาจมีเชื่ออยู่แล้ว เพียงแต่ไม่แสดงอาการรุนแรงเพราะมียีนพิเศษคอยช่วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีป้องกันโควิดที่ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการรักษาสุขภาพและปรับวิถีชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เช่นพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งน่าจะช่วยลดความรุนแรงหากติดเชื้อแต่ละครั้งได้
ที่มา NBC NEWS/ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์/โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง