svasdssvasds

31 พ.ค. วันงดสูบบุหรี่โลก เปิด 5 จังหวัด ภาคใต้ครองแชมป์ "สูบบุหรี่" สูงสุด

31 พ.ค. วันงดสูบบุหรี่โลก เปิด 5 จังหวัด ภาคใต้ครองแชมป์ "สูบบุหรี่" สูงสุด

31 พ.ค. วันงดสูบบุหรี่โลก เปิด 5 จังหวัดครองแชมป์สูบบุหรี่สูงสุด เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยภาคใต้ มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด 22.4%

SHORT CUT

  • “บุหรี่” จัดเป็นสิ่งเสพติดและยังเป็นสินค้าที่ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงได้ง่าย
  • สารนิโคตินในบุหรี่จะออกฤทธิ์และทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นสู่การใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อัตราการตายจากโรคมะเร็งปอด ในช่วง 10 ปีระหว่าง ปีพ.ศ. 2554-2563 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

31 พ.ค. วันงดสูบบุหรี่โลก เปิด 5 จังหวัดครองแชมป์สูบบุหรี่สูงสุด เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยภาคใต้ มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด 22.4%

ใกล้เข้ามาถึง “วันงดสูบบุหรี่โลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งองค์การอนามัยโลก เล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ และ “บุหรี่” จัดเป็นสิ่งเสพติดและยังเป็นสินค้าที่ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงได้ง่าย

"บุหรี่" มักจะนำไปสู่การติดยาเสพติดอื่นที่รุนแรงขึ้น

การสูบบุหรี่จะนำไปสู่การติดยาเสพติดอื่นที่รุนแรงขึ้น เช่น เฮโรอีน กัญชา ฝิ่น หรือ โคเคน รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่มากกว่าประชาชนทั่วไป ในวงการแพทย์นานาชาติยอมรับว่าสารนิโคตินในบุหรี่ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดการเสพติดและมีอำนาจเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน กัญชา และยาบ้า โดยสารนิโคตินในบุหรี่จะออกฤทธิ์และทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นสู่การใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ตามข้อมูลในหัวข้อโรคไม่ติดต่อ จากกองยุทธ์ศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลข สัดส่วนการสูบบุหรี่ของคนไทย จำแนกอายุ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546-2564 แบ่งตามช่วงอายุเป็น 15-24 ปี, 25-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไปนั้น พบว่าค่าเฉลี่ยลดลงเรื่อยมา ซึ่งช่วงอายุที่มีอัตราการสูบบุหรี่มากที่สุด คือ ช่วงวัย 25-59 ปี  

จังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด 5 ลำดับแรกอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่

  • กระบี่ 29.4%
  • สตูล 25.2% 
  • พังงา 24.6%
  • นครศรีธรรมราช 24.6%
  • ระนอง 24.5%
  • ส่วนสงขลา ค่าประมาณสถิติของการสูบบุหรี่อยู่ที่ 18.5% ของจำนวนประชากร

จังหวัดที่สูบบุหรี่ต่ำที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  • สมุทรสงคราม 13.2%
  • อุตรดิตถ์ 13.2%
  • เชียงราย 12.6%
  • ลำปาง 12.4%
  • น่าน 11.1%

 

ส่วนข้อมูลอัตราการตายจากโรคมะเร็งปอด ในช่วง 10 ปีระหว่าง ปีพ.ศ. 2554-2563 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยถ้าแบ่งตามภูมิภาค นอกจากกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือมีอัตราการตายต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคนมากสุดติอต่อกันในประเทศตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยภาคใต้ตอนล่างอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดต่ำที่สุดในประเทศไทย

จากข้อมูล ปี 2563 อัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดต่ออัตราประชากรหนึ่งแสนคน จากทั่วประเทศพบว่า 10 จังหวัดที่มีอันดับการเสียชีวิตสูงสุด มีดังนี้

  • ลำปาง (44.87)
  • ลำพูน (41.93)
  • พะเยา (38.94)
  • แพร่ (38.05)
  • น่าน (37.21)
  • เชียงราย (32.69)
  • เชียงใหม่ (33.39)
  • แม่ฮ่องสอน (30.31)
  • อุตรดิตถ์ (29.34)

พบว่า 8 ใน 10 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในภูมิภาค ภาคเหนือส่วนกรุงเทพมหานครมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่ออัตราจำนวนประชากรแสนคนเฉลี่ยอยู่ที่ 25.61 

กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ.2565 – 2570 ให้สอดคล้องตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก “WHO Framework Convention on Tobacco Control” (FCTC) ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diseases-NCD) ที่กำหนดว่า

 

ในปี 2568  อัตราการสูบบุหรี่ของประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องลดลง 30% หรือไม่เกิน 15% กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ ในสถานพยาบาลขึ้น เพื่อพัฒนาระบบบริการการเลิกบุหรี่สำหรับสถานพยาบาล และส่งเสริมให้ประชาชนเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา กรมการแพทย์ มีหน้าที่ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด ในเขตสุขภาพที่ 12 และจังหวัดสงขลา จากสถิติของโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา ปี พ.ศ.2563-2565

พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษายาและสารเสพติด มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ร่วมด้วยมีสัดส่วน 53.08%, 55.00% และ 57.60%  และประสงค์เข้ารับบริการช่วยเลิกบุหรี่มีสัดส่วน 2.14% , 1.41% และ 1.12% ตามลำดับ

ดังนั้น จึงมอบหมายให้กลุ่มภารกิจพัฒนาระบบสุขภาพดำเนินการพัฒนาระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ ในสถานพยาบาลขึ้น โดยจัดรูปแบบการให้บริการเลิกบุหรี่ด้วยระบบบูรณาการ 5A ดังนี้ ได้แก่ Ask (สอบถามประวัติ) Advise (แนะนำให้เลิกบุหรี่) Assess (ประเมินการติดบุหรี่) Assist (ช่วยให้เลิกบุหรี่) Arrange (ติดตามการเลิกบุหรี่)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related