SHORT CUT
นักวิชาการ เผย "บุหรี่ไฟฟ้า" ระบาดในเด็กไทยเข้าขั้นวิกฤต พบเด็กประถมปลายเคยลองสูบแล้วถึง 43% นักเรียนหญิงสูบมากกว่าชาย สาเหตุหลักมาจากปัญหาความอยากรู้อยากลอง
สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาในหัวข้อ “บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย : ใครได้ใครเสีย?” โดยการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ในด้านการพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของไทย เพื่อปกป้องเด็กไทยของภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยเข้าขั้นวิกฤต เด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จากการสำรวจที่โรงเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคกลาง พบเด็กประถมปลายเคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 43% และที่น่าตกใจคือพบนักเรียนหญิงสูบมากกว่าชาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน
การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าหนักขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากบริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าหรือพอดแบบใช้แล้วทิ้ง และยังออกแบบให้พกพาง่าย รูปร่างสวยงาม มีกลิ่นหอม ซ้ำยังมีการโฆษณาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ดึงดูดใจ ทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย ทั้งที่จริงแล้วงานวิจัยใหม่ๆ ที่ออกมาแสดงอย่างชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งอันตรายต่อปอด หัวใจ หลอดเลือด สมอง และยังเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
สถานการณ์การสูบบุหรี่ของเด็กอายุ 13-15 ปี พบว่า ตั้งแต่ปี 2019 มาจนถึง 2022 นั้น เกือบ 1 ใน 5 ของเด็ก ม.ต้น ของประเทศไทย สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 17.6 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2019 ที่ถือเป็นช่วงที่มีการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง อัตราการสูบในเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนเด็กประถมศึกษาตั้งแต่ ป.4-ป.6 ที่มีการเก็บข้อมูลพบว่า เด็กประถมร้อยละ 43 เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยที่เป็นบุหรี่มวน
ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า ความรู้ความเข้าใจเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า อาจจะรับรู้ไม่กว้างพอ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กที่เริ่มสูบพบว่า สูบตั้งแต่เริ่มเข้า ป. 4
รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทยเช่นเดียวกับอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลก และนับวันจะมีประเทศต่างๆ ห้ามเพิ่มขึ้น แต่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันจะให้ถูกกฎหมาย
หากถูกกฎหมายผู้ได้ประโยชน์ก็คือบริษัทบุหรี่ ขณะที่ผู้เสียคือคนกลุ่มใหญ่ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า มีทั้งผู้ปกครองและครูที่เห็นเด็กสูบมากขึ้น รวมถึงแพทย์และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพที่พบปัญหาผู้ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ที่สำคัญประเทศชาติสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือเด็ก จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งหากปล่อยให้บุหรี่ไฟห้าถูกกฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง