svasdssvasds

พระอาพาธขาดที่พึ่ง ตายคาผ้าเหลืองคือเรื่องยาก เรื่องเล่าจาก 'สันติภาวัน'

พระอาพาธขาดที่พึ่ง ตายคาผ้าเหลืองคือเรื่องยาก เรื่องเล่าจาก 'สันติภาวัน'

พระอาพาธตายคาผ้าเหลือง" เรื่องยากของพระยุคนี้ "สันติภาวัน" จึงต้องเกิดขึ้น เพื่อเป็นสถานพำนักภิกษุอาพาธระยะท้าย

SHORT CUT

  • ในอดีตพระต้องดูแลพระด้วยกัน เพราะเป็นคำสอนที่ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้พระดูแลกันน้อยลง 
  • หากพระไม่ดูแลกัน สุดท้ายก็จะไม่มีใครบวชเพื่ออุทิศชีวิตให้พระพุทธศาสนา เพราะรเข้าใจว่าตอนชราตต้องสึกออกมารักษาตัว
  • ประเด็นนี้  คงไม่มีใครแก้ปัญหาได้ดีไปกว่าคณะสงฆ์ในบ้านเรา เพราะถ้าพระชั้นปกครอง สามารถ ส่งเสริมความแน่นแฟ้นของพระในวัดเดียวกันได้ พระพุทธศาสนาของเราก็จะแข็งแรง 

พระอาพาธตายคาผ้าเหลือง" เรื่องยากของพระยุคนี้ "สันติภาวัน" จึงต้องเกิดขึ้น เพื่อเป็นสถานพำนักภิกษุอาพาธระยะท้าย

ในพุทธศาสนา ภาวะใกล้ตายและจิตสุดท้ายเป็นขณะที่สำคัญยิ่งในการกำหนดภพภูมิต่อไป ทั้งยังเป็นจังหวะสำคัญที่นำสู่การหลุดพ้นด้วย พระภิกษุผู้ที่ตั้งใจบวชอุทิศตนต่อพระศาสนาล้วนต่างปรารถนาให้บรรยากาศในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตตนเกื้อหนุนต่อการพัฒนาจิตทั้งสิ้น

ทว่าปัจจุบันนี้ สถานที่รองรับภิกษุอาพาธระยะท้ายเหล่านั้นในประเทศไทยกลับมีน้อยมาก หากจะรักษาตัวอยู่ที่วัดก็ขาดแคลนผู้ดูและ และยาที่ใช้ จะกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ก็จำเป็นต้องลาสิขา ศูนย์ “สันติภาวัน” จึงต้องเกิดขึ้นเพื่อดูแลเหล่าพระภิกษุที่ปรารถนาจะมรณภาพอย่างสงบคาผ้าเหลือง ให้ท่านจากไปอย่างสงบงดงามตามวิถีแห่งสมณะ

ศูนย์สันติภาวัน ตั้งอยู่ที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี โดยมีพื้นที่ 15 ไร่ เดิมเป็นสวนลำไย แต่เจ้าของสวนบริจาคให้ตั้งเป็นมูลนิธิสันติภาวัน เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบของการดูแลพระอาพาธของประเทศไทย ซึ่งที่นี่มีบรรยากาศร่มรื่น รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ และมีจุดประสงค์เดียวคือ “รับดูแลภิกษุอาพาธ” ไม่จำกัดสำนัก นิกาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

พระอาพาธ ที่สันติภาวัน

ทำไมพระไม่ดูแลพระด้วยกัน ?

ทีมข่าว SPRiNG ชวนคุยกับ “พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต” ผู้อำนวยการสันติภาวัน ซึ่งท่านเล่าถึงสถานการณ์การดูแลพระภิกษุอาพาธระยะท้ายในประเทศไทยว่า “ในอดีตพระต้องดูแลพระด้วยกัน เพราะเป็นคำสอนที่ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เรื่องนี้เป็นวินัยพื้นฐานในสังคมของพระสงฆ์อยู่แล้ว แต่ปัจจุบัน พระดูแลพระด้วยกันน้อยลง ซึ่งอาตมาไม่ขออยากให้เรียกว่าปัญหา แต่อยากให้มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง”

“เพราะสังคมทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พระพุทธศาสนาที่มีอยู่มานานกว่า 2600 ปีก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลภายนอกด้วย” 

“ยกตัวอย่างง่ายๆ คนในสมัยนี้ทิ้งพ่อแม่ที่แก่ชรามากขึ้นมากขึ้น หรือไม่ดูแลเอง แต่ให้พ่อแม่ไปอยู่เนอร์สเซอรี่โฮม ซึ่งค่านิยมนี้เข้ามาอิทธิพลในวงการพระด้วย เพราะพระที่มาบวชรุ่นใหม่ๆ ก็มองว่าการดูและพระอาพาธเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องใช้แรงกาย แรงใจมากกว่างานอื่น จึงไม่แปลกที่พระชราสมัยนี้ เมื่อช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือป่วยระยะท้าย จะถูกพระรูปอื่นๆ ในวัดเดียวกันโน้มน้าวให้ไปรักษาตัวที่อื่น หรือไม่ก็บังคับให้ลาสิกขา เพื่อให้ญาติรับตัวไปดูแลที่บ้าน เพราะวัดไม่มีทรัพยากรที่จะดูแลได้อย่างเหมาะสม

“แต่นั่นนำมาสู่ปัญหา เพราะไม่มีที่ไหนรับดูแลพวกท่าน เพราะเมื่อคนเหล่าเข้ามาบวช และตั้งใจอุทิศทั้งชีวิตให้พระพุทธศาสนา ย่อมต้องทิ้งชื่อ นามสกุล ทิ้งบ้าน ลาจากเครือญาติ เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัด ดังนั้นความผูกพันกับครอบครัวจึงไม่แน่นแฟ้มเหมือนเดิม ทางบ้านก็ไม่อยากรับ หากจะส่งไปโรงพยาบาลพวกท่านก็ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษา และมักสิ้นลมอย่างเดียวดาย ซึ่งไม่ดีต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้าย” 

“อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระอาพาธรักษาตัวที่วัดได้ยาก เพราะการปกครองไทยให้ความสำคัญกับระบบเครือญาติเป็นพิเศษ เช่น ถ้าพระรูปไหนจะผ่าตัด หรือเข้ารับการรักษาโรคร้ายแรง โรงพยาบาลเขาจะถามความยินยอมจากญาติ เขาไม่ได้ถามความยินยอมกับเจ้าโอวาท เพราะฉะนั้น ระบบนี้ จึงเหมือนสนับสนุนให้วัดผลักพระอาพาธไปให้ญาติดูแล เพราะมีความสะดวกเวลาจัดการมากกว่า ซึ่งบางส่วนก็ดูแลได้ แต่ส่วนใหญ่ในสังคมมักกำลังน้อย ขาดแคลนความรู้ และญาติพี่น้องทั้งหลายก็มีภาระมากอยู่แล้ว”

ดูและพระอาพาธ ที่สันติภาวัน

ในอนาคตจะไม่มีใครอยากอุทิศตัวให้ศาสนา 

“หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ผลเสียที่ตามมาคือ จะไม่มีใครอยากบวชเพื่ออุทิศชีวิตให้กับพระพุทธศาสนา อาจมีมาบวชแค่ไม่ 2-3 เดือน หรือไม่กี่ปี แต่จะไม่มีใครอยากอยู่ในผ้าเหลืองไปทั้งชีวิตอีกแล้ว เพราะทุกคนรู้ว่าพระไม่ดูและพระด้วยกัน

“เมื่อเป็นแบบนี้ศาสนาก็อ่อนแอ ซึ่งส่งผลเสียไปถึงคนในสังคมต่อไป เพราะเมื่อวัดมีแต่พระที่เข้ามาบวชสั้นๆ พุทธศาสนาก็จะกลายเป็นเรื่องฉาบฉวย มีแค่การสวดมนตร์ ทำพิธีทั่วไป แต่ไม่มีพระที่เข้ามาศึกษาธรรมทั้งชีวิตอีกต่อไป

สุดท้ายสังคมก็จะไม่ได้รับการกล่อมเกลาจากพระพุทธศาสนา ซึ่งส่งผลให้คนในสังคมขาดศีลธรรมมากขึ้น

 

สันติภาวัน รับดูและพระอาพาธระยะท้าย 

“เหตุผล ที่อาตมาลุกขึ้นมาก่อตั้งศูนย์ดูแลพระอาพาธระยะท้าย มาจากประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อได้ดูแลพระอุปัชฌาย์ที่ล้มป่วย สมัยยังอยู่ที่วัดเมืองนนท์ฯ ทำให้เห็นถึงปัญหาเมื่อพระเข้าสู่วัยชรา จึงได้ก่อตั้ง สันติภาวันขึ้นมา ซึ่งที่นี่อาตมาเลือกจดทะเบียนให้เป็น “มูลนิธิ” ไม่ได้จดทะเบียนเป็น “วัด” เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดเรื่องนิกาย เพราะอาตมาตั้งใจจะรักษาพระอาพาธจากทุกนิกาย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะบวชมากี่ปี หรือมาจากวัดไหนก็ตาม

“แต่ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิด คิดว่าที่นี่เป็นโรงพยาบาลพระรูปแบบใหม่ ซึ่งอาตมาต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะที่นี่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย หรือ บุคลากรจากโรงพยาบาล มีแค่พระไม่กี่รูป กับอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง ดูแลกันเองเท่านั้น โดยเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เช่นปวดหัวก็กินยาแก้ปวดหัว ปวดท้องก็กินยาแก้ปวดท้อง เพื่อเน้นให้พวกท่านเกิดความสงบในจิตใจ ก่อนที่เวลาสิ้นลมจะมาถึง

“ที่นี่เราจัดการทุกอย่างแบบรวบรัดเรียบง่าย หากพระท่านไหน มรณภาพกลางคืน พอเราแจ้งตายตามวิธีปกติเสร็จแล้ว เราก็เผาในวันรุ่งขึ้นเลย โดยไม่ได้สวด 3 วัน 7 วันเหมือนวัด เพราะเรามีหน้าที่ต้องดูและพระอาพาธรูปอื่นด้วย แต่ถ้าพระที่มรณภาพรูปไหนมีญาติที่ต้องการนำร่างของท่านไปทำพิธีเองเราก็ไม่ขัด แต่พระที่เราดูแลส่วนใหญ่มักจะห่างเหินกับญาติมานาน เราจึงจัดการร่างของท่านกันเอง”

พระอาจารย์วิชิตเล่าว่า มูลนิธิสันติภาวัน มีเงื่อนไขรับพระมาดูแล 4 ข้อ ดังนี้

  1. เป็นพระภิกษุอาพาธระยะสุดท้าย คือป่วยเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตอีกไม่นาน
  2. เป็นพระภิกษุที่ พอแล้วกับการักษาและเตรียมตัว เตรียมใจที่จะตายแล้ว
  3. พระภิกษุรูปนั้นต้องเต็มใจมาอยู่ที่สันติภาวัน ไม่ใช่โดนญาติ หรือวัดบังคับให้มา
  4. เราต้องดูแลได้ ดูแลไหว ถ้ามาแล้วสร้างความเดือดร้อนให้พระอาพาธรูปอื่น จะไม่รับ

สันติภาวัน

ชุมชนต้องดูแลพระอาพาธของตนเองได้ 

“อาตมาอยากให้คนในสังคม ตระหนักถึงการดูแลพระอาพาธกันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนทำบุญกันด้วยเงิน ทั้งโอนเข้าบัญชีวัดโดยตรง และการหยอดตู้บริจาค แต่ไม่มีใครเขาไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของวัด ไม่เข้าไปมองว่าพระป่วยเขาอยู่กันแบบไหน มีคนดูแลไหม ซึ่งต้องอาศัยทั้งพลังของญาติโยม พระร่วมวัด เจ้าคณะอําเภอ เจ้าคณะจังหวัด ในการเป็นหูเป็นตา และเข้าไปดูแลพระอาพาธร่วมกัน

“แต่เรื่องนี้ คงไม่มีใครแก้ปัญหาได้ดีไปกว่า คณะสงฆ์ในบ้านเรา เพราะถ้าพระชั้นปกครอง สามารถสร้างระบบที่แข็งแรง ส่งเสริมความแน่นแฟ้นของพระในวัดเดียวกัน เน้นอบรมหลักปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้นเหมือนในอดีต เพื่อให้พระภิกษุเห็นความสำคัญของการดูแลพระภิกษุด้วยกัน มากกว่าโยนไปให้หน่วยงานอื่น

“เพราะเป้าหมายของอาตมา ไม่ใช่การขยายโครงการสันติภาวัน ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือกลายเป็นศูนย์กลางรับรองพระอาพาธของประเทศ แต่ความตั้งใจที่แท้จริงของอาตมาคืออยากให้คนทุกคนดูแลพระอาพาธในชุมชนของตัวเอง”

หากในสังคมมีการตระหนักและลงมือทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง สังคมพระพุทธศาสนาเราก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น และมูลินิธีสันติภาวันก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

 

ช่องทางสนับสนุน 

ผู้ที่ประสงค์สนับสนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถโอนเข้า “บัญชีมูลนิธิสันติภาวัน” ใบเสร็จรับเงินของมูลนิธิฯ “ยังไม่สามารถ” ใช้หักลดหย่อนภาษีได้

ธนาคารกรุงไทย สาขาบางกรวย เลขที่ 109-0-30655-5
ธนาคารกสิกรไทย สาขาสอยดาว เลขที่ 075-8-10936-4
K+ market ใน แอพฯ K Plus ของ ธ.กสิกรไทย
หรือใช้แอพฯ ธนาคาร สแกน QR ตามภาพ

ขอบคุณภาพจาก : มูลนิธิ สันติภาวัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related