svasdssvasds

เช็กอาการ "ซึมเศร้าหลังหยุดยาว" แนะ 6 วิธีรับมือ ไม่ให้กระทบการทำงาน

เช็กอาการ "ซึมเศร้าหลังหยุดยาว" แนะ 6 วิธีรับมือ ไม่ให้กระทบการทำงาน

กรมสุขภาพจิต เผยเทศกาลแห่งการพักผ่อนกับวันหยุดยาวอาจมาพร้อมกับ “ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว” พร้อมแนะ 6 วิธีเพื่อรับมือและป้องกันเพื่อไม่ให้กระทบการทำงาน

SHORT CUT

  • ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว ไม่ใช่โรคจิตเวช หดหู่ เศร้าเพียงระยะเวลาสั้น สามารถหายเองได้ แต่กระทบต่อการใช้ชีวิต
  • เช็กอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว รู้สึกเศร้าๆ หม่นๆ วิตกกังวล ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน 
  • วิธีเพื่อรับมืออาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว หาแรงจูงใจในการไปทำงาน สร้างคุณค่าในการทำงาน วางแผนเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป

กรมสุขภาพจิต เผยเทศกาลแห่งการพักผ่อนกับวันหยุดยาวอาจมาพร้อมกับ “ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว” พร้อมแนะ 6 วิธีเพื่อรับมือและป้องกันเพื่อไม่ให้กระทบการทำงาน

ตลอดช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ 2567 หลายคนคงใช้เวลาในการพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่เมื่อใกล้เข้าถึงวันกลับมาทำงานปกติ คงทำให้หลายๆ คนอยากจะหยุดต่อ ไม่อยากกลับมาทำงานอีกแล้ว แค่นึกถึงวันที่ต้องกลับมาทำงาน การเดินทางไปทำงาน ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป้นเวลานานๆ ต้องรีบไปประชุมในทุกๆเช้า จนทำให้รู้สึกเศร้า หดหู จิตใจห่อเหี่ยว ซึ่งอาการเหล่านี้ ทางการแพทย์ให้คำนิยามว่า "Post-vacation blues" หรือ "Post-vacation Depression" ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดพักร้อน

ด้านนายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในทางจิตวิทยาทั้ง Post-Vacation Depression หรือ Post-vacation Blues หมายถึง

อารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นหลังหยุดยาวติดต่อกันหลายหลายวัน ทำให้เกิดอารมณ์เศร้าเบื่อหน่ายไม่กระตือรือร้น ทำให้มีอาการคล้ายภาวะหมดไฟหรือรบกวนการทำงานได้ ทั้งนี้ “อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว” ไม่ใช่โรคทางจิตเวชเป็นสภาวะอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นหลังวันหยุดยาว

ซึ่งโดยปกติแล้วจะสามารถหายไปเองใน 2 - 3 วัน สำหรับบางคนอาการอาจอยู่ยาวถึง 2 - 3 สัปดาห์เลยก็ได้ โดยอาการหลักๆ ก็คือ อารมณ์เศร้า หดหู่ เหนื่อย ไม่อยากทำอะไร รู้สึกเหมือนคนหมดไฟ และไม่กระตือรือร้น

อาการ "ซึมเศร้าหลังหยุดยาว" มีดังนี้ 

  • รู้สึกไม่สดชื่น อาจมีปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
  • มีความกังวลเรื่องทุกอย่างจนเกินเหตุ
  • เหนื่อยง่าย พักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่พอ รู้สึกหลับไม่อิ่ม
  • การจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีสมาธิ
  • หงุดหงิดง่าย
  • บางคน อาจรู้สึกจมดิ่งไปกับอารมณ์เศร้าหมอง 
  • สมาธิลดลง
  • รู้สึกเศร้าๆ หม่นๆ วิตกกังวล ไม่สบายใจ
  • ขาดแรงจูงใจในการทำงาน/การเรียน หรือการใช้ชีวิตตามปกติ
  • มีปัญหาการนอน
  • เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ
  • หวนคิดถึงช่วงเวลาแห่งความสุขในวันหยุดยาวที่ผ่านมา
  • หมกมุ่นกับการมองหาวันหยุดครั้งต่อๆ ไป

คนที่มีแนวโน้มเกิดอาการ "ซึมเศร้าหลังหยุดยาว"

  • คนที่มีกดดันหรือเครียดในแต่ละวันสะสมอยู่ก่อนแล้ว
  • คนที่มีอารมณ์ไม่ค่อยเสถียร เหวี่ยงง่ายอยู่แล้ว จากปัญหาสุขภาพหรือ มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์สูง
  • คนที่มีประสบการณ์วันหยุดพักผ่อนที่แตกต่างจากการใช้ชีวิตประจำวันปกติมาก ๆ

 กรมสุขภาพจิตแนะนำ 6 วิธีเพื่อรับมืออาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ดังนี้

  1. หาแรงจูงใจในการไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายความก้าวหน้าในการทำงาน เช่น การได้ขึ้นเงินเดือน โบนัส เป็นต้น หรือหาใครบางคนที่ทำให้การทำงานของมีความหมาย เช่น ลูกค้า หรือผู้มารับบริการ หากได้พบหรือทำให้ผู้นั้นรู้สึกดีขึ้น นั่นก็ทำให้การทำงานมีความหมาย และทำให้อยากไปทำงานมากยิ่งขึ้น
  2. การสร้างคุณค่าในการทำงาน โดยการมองหาข้อดีของการทำงาน เช่น มองหาว่าใครได้รับประโยชน์จากการทำงานหรือสิ่งที่สามารถทำประโยชน์ต่อคนอื่น หรืองานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร เช่น มีทักษะเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น
  3. อยู่กับปัจจุบัน หากการติดอยู่ในอดีต (การคิดถึงช่วงวันหยุดยาว) ทำให้เป็นทุกข์ และอนาคต (วันหยุดยาวรอบต่อไป) ก็ยังมาไม่ถึง และไม่แน่ไม่นอน ดังนั้นจึงควรอยู่กับปัจจุบัน วางแผนการทำงานแบบวันต่อวัน โดยการจดลิสต์รายการที่ต้องทำในแต่ละวัน แล้วจะเห็นเหตุผลที่ต้องไปทำงานในแต่ละวัน ซึ่งการทำลิสต์นี้นอกจากจะทำให้รู้ว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้างแล้ว ยังทำให้เห้นความก้าวหน้าในการทำงานของอีกด้วยว่า ทำอะไรเสร็จไปบ้างแล้ว  

6 วิธีเพื่อรับมืออาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

 4. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน หากการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจ ทำให้เบื่อการทำงาน ก็ลองเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สร้างสรรค์มากขึ้น ได้ท้าทายตัวเองแล้วยังทำให้รู้สึกสนุกกับการทำงาน และเกิดความคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย

   5. หาเพื่อนรู้ใจและทีมในการทำงาน หากการทำงานคนเดียวมันเหงา พาใจให้เฉาก็ลองหาเพื่อนคู่หูในการทำงาน หรือสร้างทีมเพื่อทำงาน เพราะการทำงานเป็นคู่หรือเป็นทีมนั้นนอกจากจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น สมบูรณ์แบบขึ้นมีประสิทธิภาพที่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ยังลดโอกาสผิดพลาดในการทำงาน มีความสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น และสนุกกับการทำงานมากขึ้นด้วย

   6. วางแผนเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป และเทคนิคในการลดอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ซึ่งการวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งต่อไป ทำให้เกิดความหวังและรอคอยวันหยุดครั้งต่อไป จะทำให้เกิดความรู้สึกกระชุ่มกระชวย มีไฟในการเคลียร์งานให้เสร็จอย่างไว และมีใจที่สดใสเพื่อรอไปเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไปกรมสุขภาพจิต

“แม้อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว” Post-vacation depression หรือ Post - Vacation Blues จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่รุนแรง แต่ส่งผลอย่างมากต่อทัศนคติและความรู้สึกที่มีต่อการทำงานและประสิทธิภาพต่อการทำงาน

หากปล่อยให้มีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่ายต่อการทำงานเป็นเวลานาน ก็จะทำส่งผลกระทบต่อภาวะหมดไฟและความก้าวหน้าในการทำงานจึงควรดูแลจิตใจตนเองรับมือกับภาวะนี้อย่างเข้าใจรวม รวมทั้งใช้เทคนิคการดูแลสุขภาพจิตดังกล่าวก็สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานและทำให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น 

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related