กรมสุขภาพจิต เตือนภาวะ "New Year’s Blues" เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น รู้สึกล้มเหลว และรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง แนะเทคนิค 5 ข้อ ต่อสู้ภาวะ "ซึมเศร้าหลังปีใหม่"
เมื่อหมดเวลาสนุกในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ เข้าสู่ภาวะปรกติ อาจเกิดภาวะ "New Year’s Blues" หรือ ภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่
โดย นายแพทย์ พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า ภาวะ "New Year’s Blues" หรือ ภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ แม้ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยทางจิตเวช แต่เป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้น กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตของประชาชนเป็นอย่างมาก
แม้คนส่วนใหญ่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่เทศกาลรื่นเริง แต่คนจำนวนหนึ่งจะเริ่มทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลอดปีที่ผ่านมา หรือได้รับฟังข่าวสารที่มีการสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาและเกิดความผิดหวัง กังวล ระลึกถึงอุปสรรคปัญหาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสุขภาพกาย ปัญหาจากการทำงาน และปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น หลายคนไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ตามสิ่งที่ตนเองเคยคาดหวังและวางแผนไว้ ก่อให้เกิดความรู้สึกล้มเหลว ความทรงจำด้านลบ การสูญเสีย และความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง เกิดความเครียดเรื้อรังสะสมหรือซึมเศร้าขึ้นได้
นอกจากนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม อาจจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มยิ่งขึ้นได้ในช่วงนี้ เช่น คนที่มีภาวะซึมเศร้าอยู่เดิมอาจมีอาการเศร้ารุนแรงมากขึ้นตามมา
หากรู้สึกว่าตนเองอาจมีภาวะ New Year’s Blues สามารถเริ่มปรึกษาพูดคุยกับใครสักคน เช่น คนใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัว รวมถึงสามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ LINE@1323forthai, sati App หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป