เหตุการณ์ ขวาพิฆาตซ้าย’ ประวัติศาสตร์รอยร้าวสังคมไทย ความรุนแรงที่อาจคืนชีพ และทำให้ประเทศไทยยิ่งห่างไกลจากคำว่าปรองดอง
เร็วๆ นี้ ประโยค “ขวาพิฆาตซ้าย” กลับมาเป็นที่พูดถึงในสังคมอีกครั้ง จากกรณีปะทะกันระหว่าง ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กับกลุ่มทะลุวังที่สยามพารากอน จนมีผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์
ทั้งนี้ สถานการณ์ยังบานปลายออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากในโลกอินเทอร์เน็ต มีทั้งการข่มขู่ คุกคาม และพร้อมจะออกมาปะทะกันบนท้องถนนได้ทุกเมื่อ จนหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง พร้อมเร่งให้รัฐบาลเร่งเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายพูดคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว ก่อนที่ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมจะขยายตัววงไปมากกว่านี้
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าถ้าหากฝ่ายขัดแย้งกันยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ บ้านเมืองจะเดินหน้าไปทางไหนต่อ และท้ายที่สุดความขัดแย้งจะลุกลามจนเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกหรือไม่?
หากพูดถึง “ฝ่ายขวา” และ “ฝ่ายซ้าย” ในบริบททางการเมือง ย่อมหมายถึง ฝ่าย “อนุรักษนิยม” และ “เสรีนิยม” ที่มักเป็นปรปักษ์ต่อกันในสนามรบทางการเมืองทั่วโลก ส่วนที่มาของคำ “ขวา-ซ้าย” นั้น มีที่มาจากเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ที่การประชุมสภาในขณะนั้น ฝ่ายที่สนับสนุนกษัตริย์จะนั่งอยู่ฝั่งขวา ส่วนฝ่ายที่เป็นเสรีนิยมจะนั่งอยู่ฝั่งซ้าย
สำหรับเหตุการณ์ที่ได้รับการขนานนามว่า “ขวาพิฆาตซ้าย” ในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อขบวนการนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านการปกครองระบอบเผด็จการของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ถูกกองกำลังเจ้าหน้าที่และกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบุกปราบปรามด้วยความรุนแรงจนกลายเป็นเหตุสลดครั้งใหญ่ของประเทศ แต่วิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนกลับไม่ต้องการกล่าวถึงช่วงเวลานั้นเท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นั้น มีผู้เสียชีวิต 45 ราย ไม่สามารถระบุตัวตนได้ 7 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกนับร้อย ผู้ถูกจับกุมอีกนับพัน โดยในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมผู้เสียชีวิตที่ตกสำรวจในเวลานั้น ซึ่งคาดการณ์ว่ามีอีกจำนวนมาก
ถึงแม้จะมีความพยายามจากภาคประชาชนและกลุ่มที่เกี่ยวข้องในการตีแผ่ความจริงเพิ่มเติม แต่เพราะช่วงเวลาหลังจากนั้นสังคมไทยยังคงอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519,พฤษภาทมิฬ 2535 และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนถูกทำให้ลืมเลือนไปอย่างง่ายดาย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของฝ่ายขวา
ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ ก็มีเหตุการณ์ที่คล้ายกันคือ การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาในปี 2523 ที่เมือง (Gwangju) โดยครั้งนั้น รัฐได้สั่งการสังหารหมู่ผู้ประท้วงจนทำให้เกิดผู้เสียชีวิต 144 ราย รวมถึงบาดเจ็บอีกหลายพัน แต่ สุดท้ายในปี 2539 ผู้นำฝั่งประชาชนก็สามารถนำผู้ที่สั่งการในวันนั้นขึ้นศาล และดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ
กลับมาที่ประเทศไทย แม้โอกาสที่จะนำตัวผู้มีอำนาจมารับโทษจะดูเป็นไปได้ยากกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลการเลือกตั้งปี 2566 ที่ฝ่ายขวาพ่ายแพ้ยับเยินนั้น อาจเป็นการโต้กลับที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมได้เสื่อมถอยลงไปมากแล้ว และถึงแม้ผลสุดท้ายจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วเกิดขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็คาดหวังให้รัฐบาลชุดนี้พาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง และป้องกันไม่ให้วงจรอุบาทว์กลับมาเกิดได้อีก
จริงอยู่ที่ว่าประเทศไทยเปลี่ยนจากยุคแอนะล็อก มาเป็นยุคดิจิทัลแล้ว และประชาชนก็รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขึ้น ทว่าความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ ซึ่งขั้วฝ่ายซ้ายและขวายังคงห้ำหั่นกันเหมือนเดิม
แม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นยิงกันตายกลางถนนเหมือนเมื่อก่อน แต่การก่อกวน คุกคาม ข่มขู่กันไปมา และร้องเรียนให้อีกฝ่ายให้หยุดทำกิจกรรม ก็ยังคงมีให้เห็นเรื่อยๆ ซึ่งกรณีอย่างการสั่งยุบพรรคการเมือง หรือตัดสิทธิ์นักการเมืองบางคนให้ไม่สามารถกลับมามีบทบาทได้อีก ก็ถือเป็นปฏิบัติการ “ขวาพิฆาตซ้าย” ในสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ถึงการปราบปรามด้วยกำลังจะลดน้อยลง แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก เพราะการปะทะกันของกลุ่มที่มีความขัดแย้งทางความคิด ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ และเป็นสิ่งยืนยันว่าความรุนแรงยังสามารถพร้อมเกิดได้ทุกเมื่อ ซึ่งยิ่งทำให้สังคมไทยห่างไกลจากคำว่าปรองดองเข้าอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง