เปรียบเทียบ ผังเมืองกทม. 2556 กับ ผังเมืองใหม่ กทม. มีความแตกต่างกันแค่ไหน ? และมาดู 10 ข้อสังเกตจากก้าวไกล ผังเมืองใหม่ เหลื่อมล้ำ และ เอื้อประโยชน์นายทุนจริงหรือไม่ ?
ประเด็น ผังเมืองกทม. กลายเป็นประเด็ร้อนของสังคมที่ถูกจุดไฟให้ลุกลามในโลกจริง และโลกออนไลน์อีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2567 โดยประเด็นนี้ มีสารตั้งต้น มาจาก ฝั่งพรรคก้าวไกล นำโดย ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ - สส.กรุงเทพฯ เขตบางเขน-จตุจักร-หลักสี่ ไล่เรียงข้อสังเกตและความกังวลดังนี้
1.การรับฟังความคิดเห็นครั้งถัดไป (6 ม.ค. 67) เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสำคัญ หากประชาชนไม่ได้เข้าร่วม หรือแสดงความคิดเห็นทางหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทางวาจาไว้ จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ หลังจากนี้ได้อีก ปัจจุบันนี้ร่างผังเมืองฉบับนี้ยังไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ที่สามารถประกาศใช้ได้
2.การกำหนดผังสีโดยไม่มีรูปแบบ เป็นเพียงการเปลี่ยนผังเมืองที่เพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยนิยมเปลี่ยนแปลงตามรถไฟฟ้าและการใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นการวางผังเมืองเพื่อชี้นำความเจริญหรือกำหนดอนาคตของเมือง แต่เป็นการวางผังเมืองหลังจากที่เมืองได้มีการเจริญเติบโตไปก่อนแล้วค่อยปรับผังเมืองตามความเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทาง
3.การเปลี่ยนแปลงผังสีเขียว (พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม) ในฝั่งตะวันตกจะมีการเปลี่ยนแปลง และปรับการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างก้าวกระโดดกว่าในหลายพื้นที่ ส่วนฝั่งตะวันออก จะมีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่ยังคงไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
4.การไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด เนื่องจากร่างผังเมืองฉบับปัจจุบัน เป็นการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกรุงเทพฯ โดยไม่ได้มีการวางแผนร่วมกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ และไม่ได้มีเหตุผลหรือหลักการที่ประกอบอย่างชัดเจน ทำให้ในบางพื้นที่มีความ มีความย้อนแย้งกัน เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ
5. ทบทวนมาตรการสร้างแรงจูงใจให้โบนัสเอื้อประโยชน์โครงสร้างอสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดิน FAR Bonus (Floor Area Ratio Bonus) หรือสิทธิพิเศษในการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผังเมืองกำหนดให้ ซึ่งในร่างผังเมืองฉบับปัจจุบัน มีการกำหนดมาตรการจูงใจให้เอกชนในการแลกกับ FAR Bonus เพิ่มในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นจะต้องพิจารณาและรับฟังข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่รักษาพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเช่นกัน พรรคก้าวไกลมองว่า ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ FAR Bonus แบบจำเพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาภูมิศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของกรุงเทพฯ รวมถึงควรมีการวางแผนการปฎิบัติการติดตามผลลัพธ์ที่กรุงเทพฯ จะได้รับ
6.ปัญหาความไม่สอดคล้องของผังคมนาคมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เช่น การตัดถนนใหม่เพิ่มขึ้นแต่แผนดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางคมนาคมโดยรวมของภาครัฐ เนื่องจากกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมระบบขนส่งมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรง แต่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ทำให้ผังคมนาคมไม่ได้สอดคล้องกันทั้งหมด รวมถึงผังของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ส่งเสริมการวางผังของระบบแบบตาราง (Grid Pattern System) คือไม่ได้มีความพยายามที่จะเชื่อมซอยต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหารถติดอย่างจริงจัง
7.อภิสิทธิ์ชน ซึ่งในร่างผังเมืองฉบับนี้ยังคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำและอำนาจ เนื่องจากที่ดินทหารกำหนดให้เป็นผังสีขาว โดยกำหนดให้พื้นที่ทหารซึ่งมีอยู่ในกรุงเทพมหานครกว่า 12,900 ไร่ บางส่วนเป็นผังสีขาว ซึ่งเป็นสถานะที่อยู่เหนือกฎหมายผังเมือง คือไม่มีเงื่อนไขกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน แตกต่างกับที่ดินของประชาชนที่ถูกบีบให้อยู่ภายใต้กฎหมายผังเมือง เช่น การใช้พื้นที่ผังสีขาวในการสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่เหล่านายพล หรือเป็นบ้านพักของให้แก่ทหารระดับสูง
8.การกำหนดพื้นที่สีแดงที่ไม่มีหลักการ เป็นการกำหนดพื้นที่สีแดงและพื้นที่สำหรับการทำพาณิชย์ที่กระจายตัวอยู่บนพื้นที่ของเหล่านายทุน และบางพื้นที่ที่เป็นผังสีแดงไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดย่อย
9.ผังที่โล่ง ซึ่งในการจัดทำร่างผังเมืองฉบับปัจจุบันยังคงมีผังที่โล่ง โดยกำหนดให้ผังที่โล่ง และผังสีเขียวของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ผังที่โล่งในร่างผังเมืองฉบับปัจจุบันได้มีการนับรวมกับพื้นที่ของเอกชน เช่น สนามกอล์ฟ ซึ่งขัดแย้งต่อเงื่อนไขการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจน
10.การกระจุกความเจริญ เนื่องจากร่างผังเมืองฉบับปัจจุบันไม่ได้มีการแก้ปัญหาความแออัดในกรุงเทพฯ และไม่มีการกระจายความเจริญที่มีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้กรุงเทพฯ เจริญเติบโตเฉพาะในกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความแออัดที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนกรุงเทพฯฝั่งตะวันตกและตะวันออก ยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม
โดยทั้ง 10 ข้อนี้ เป็น การตั้งข้อสังเกต จาก พรรคการเมือง อย่าง พรรคก้าวไกล ที่เป็นฝ่ายค้าน โดย สรุปแล้ว ผังใหม่กรุงเทพฯ ในมุมมองของก้าวไกล คือจะทำให้ เมืองเหลื่อมล้ำ กระจุกความเจริญ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมกำหนด ?
.
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 มกราคม 2567 , ทางฝั่ง กทม. โดย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมายืนยัน ว่า ผังเมืองรวมไม่เอื้อประโยชน์นายทุน แบบที่ พรรคก้าวไกล เริ่มเปิดประเด็น ฟาดโจมตีก่อนหน้านี้ , และทาง กทม. พร้อมขยายเวลาชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดังนั้น แปลว่า หากสรุปจากนี้ ทุกตัวอักษร คือ กทม. นั้นรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแน่นอน
หากดูที่ตัวเลข สัดส่วนต่างๆแล้ว ผังเมืองใหม่ของกทม. และ ผังเมืองที่ใช้อยู่ ณ ปัจจบัน มีความแตกต่างกันในรายละเอียด
- พื้นที่สีเหลือง : ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 273,957 ไร่ คิดเป็น 27.97 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. พื้นที่ 246.116 ไร่ คิดเป็น 25.13 % เปลี่ยนแปลง - 27,841 ไร่
- พื้นที่สีส้ม : ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 155,050 ไร่ คิดเป็น 15.83 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. พื้นที่ 216,033 ไร่ คิดเป็น 22.06 % เปลี่ยนแปลง +60,983 ไร่
- พื้นที่สีน้ำตาล : ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 66,734 ไร่ คิดเป็น 6.81 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. พื้นที่ 67,115 ไร่ คิดเป็น 6.85 % เปลี่ยนแปลง +381 ไร่
พื้นที่อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ ศิลปะวัฒนธรรมไทย ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 3,541 ไร่ คิดเป็น 0.36 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. พื้นที่ 1,378 ไร่ คิดเป็น 0.14 % เปลี่ยนแปลง - 2,162 ไร่
พื้นที่ พาณิชยกรรม ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 42.802 ไร่ คิดเป็น 4.73 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. พื้นที่ 49,074 ไร่ คิดเป็น 5.01% เปลี่ยนแปลง 6,271 ไร่
พื้นที่ คลังสินค้า ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 1,404 ไร่ คิดเป็น 0.14 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. 1,404 ไร่ คิดเป็น 0.14 %
พื้นที่ อนุรักษ์ ชนบท และ เกษตรกรรม ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 150,2023 ไร่ คิดเป็น 15.34 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. 53,779 ไร่ คิดเป็น 5.49 % เปลี่ยนแปลง -96,424 ไร่
พื้นที่ ชนชท และ เกษตรกรรม ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 234,899 ไร่ คิดเป็น 39.32 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. 293,702 ไร่ คิดเป็น 29.99 % เปลี่ยนแปลง + 58,802 ไร่
พื้นที่ สถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และ สาธารณูปการ ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 26,456 ไร่ คิดเป็น 2.70 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. 26,880 ไร่ คิดเป็น 2.74 % เปลี่ยนแปลง + 423 ไร่
พื้นที่อื่นๆ ผังเมืองรวมกทม. 2556 พื้นที่ 16,423 ไร่ คิดเป็น 1.68 % ร่างผังเมืองรวมใหม่ กทม. 17,180 ไร่ เปลี่ยนแปลง +757 ไร่
รวม 979,3244 ไร่
ยกตัวอย่างจุดที่แตกต่างอย่างชัดเจน อาทิ
ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา
พื้นที่ในโซนดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่สวนเกษตร และตอนที่ผังเมืองฉบับปัจจุบันประกาศใช้ ยังไม่ได้มีการเปิดใช้รถไฟฟ้าไปในพื้นที่ ได้แก่ สายสีแดง(บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายน้ำเงิน(ท่าพระ-บางแค)ประกอบกับ เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หลังจากรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ รวมถึงพื้นที่ด้านบนที่ติดกับจังหวัดนนทบุรีมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้พื้นที่บริเวณตลิ่งชัน-ทวีวัฒนามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 เดิม) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.4 เดิม) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1, ย.3 และ ย.4) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.8) และพาณิชยกรรม (พ.4 ใหม่)บริเวณรอบสถานีรองรับการเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมชานเมือง
สิ่งที่แตกต่างกัน จากของเดิมและของใหม่นั้น ทำให้ ฝั่งพรรคก้าวไกล รวมถึง ประชาชนบางส่วน มองว่า การจัดผังเมืองกทม.ใหม่ นั้น เอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม , และมีความกังวล ว่าจะมีการเอื้อประโยชน์บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดช่องให้สามารถสร้างคอนโดมิเนียมได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในย่านทำเลทอง แต่คุณภาพชีวิตของคนกรุงกลับแย่ลง