svasdssvasds

เทียบหน่วยต่อหน่วย กรุงเทพฯ เขียวขึ้นหรือไม่ ในร่างผังเมืองฉบับใหม่

เทียบหน่วยต่อหน่วย กรุงเทพฯ เขียวขึ้นหรือไม่ ในร่างผังเมืองฉบับใหม่

เปิดร่างผังเมืองฉบับใหม่กรุงเทพมหานคร พบพื้นที่สีเขียวโดยรวมเพิ่มขึ้น ทั้งพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พื้นที่สำหรับเกษตรกรรม และพื้นที่สีเขียวสาธารณะ หลังกทม. ปรับปรุงร่างผังเมืองฉบับใหม่แล้วเสร็จ เตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอนประชาพิจารณ์

ความคืบหน้าร่างผังเมืองกรุงเทพฯ

ใกล้ความจริงเข้าไปทุกที กับการปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 ที่มุ่งเน้นปรับให้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปัจจุบัน ที่มีอายุกว่า 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่การเริ่มประกาศใช้เมื่อปี 2556 ให้มีความทันสมัย และมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยในขณะนี้ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ร่างผังเมืองรวมฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้ดำเนินการร่างจนเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะนำไปโฆษณาปิดประกาศและจัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ผังเมืองรวมกทม. ฉบับใหม่จะมีการปรับปรุงให้ทุกมิติ และต่อไปผังเมืองจะไม่มีหมดอายุการใช้งาน  แต่จะใช้วิธีปรับและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆขึ้นอยู่กับความต้องการประชาชน เพื่อตอบสนองการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โมเดลเมืองกรุงเทพมหานคร  ที่มาภาพ: NationPhoto

นอกจากนี้ ผังเมืองรวมกทม. ฉบับใหม่อาจจะเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เพื่อรองรับกับสภาพเมืองที่มีความหนาแน่นมากขึ้น ในขณะที่ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับคนเมืองอีกด้วย

ไทวุฒิ กล่าวว่า คาดว่าภายในปี 2568 นี้จะมีการประกาศใช้ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้

 

รายละเอียดความเปลี่ยนแปลงในร่างผังเมืองฉบับใหม่

สำหรับภาพรวมแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1-ย.5) จากเดิม 438.33 ตร.กม. ลดลง เป็น 350.71 ตร.กม.
  • ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6-ย.10) จากเดิม 248.08 ตร.กม. เพิ่มขึ้น เป็น 349.95 ตร.กม.
  • ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11-ย.15) จากเดิม 106.78 ตร.กม. ลดลง เป็น 99.12 ตร.กม.
  • พาณิชยกรรม (พ.1-พ.8) จากเดิม 74.15 ตร.กม. เพิ่มขึ้น เป็น 76.47 ตร.กม.
  • อุตสาหกรรม(อ.1 และ อ.2) เท่าเดิม คือ 12.59 ตร.กม.
  • คลังสินค้า (อ.3) เท่าเดิม คือ 2.25 ตร.กม.
  • พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) จากเดิม 240.32 ตร.กม. ลดลง เป็น 50.60 ตร.กม.
  • พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 และ ก.3) จากเดิม 375.84 ตร.กม. เพิ่มขึ้น เป็น 481.43 ตร.กม.
  • สถาบันราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (ส.) เท่าเดิม คือ 42.33 ตร.กม.
  • และอื่น ๆ ได้แก่ เขตพระราชฐาน เขตทหาร ฯลฯ เท่าเดิม คือ 26.27 ตร.กม.

 

ในขณะที่ภาพรวมแผนผังแสดงที่โล่งมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • ล.1 ที่โล่งเพื่อนันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากเดิมจำนวน 100 แห่ง พื้นที่ 23.91 ตร.กม. เพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 326 แห่ง พื้นที่ 33.74 ตร.กม.
  • ล.2 ที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมถนน จากเดิม 40 แห่ง ระยะทาง 380.63 กม. เพิ่มขึ้น เป็น 81 แห่ง ระยะทาง 580.91 กม.
  • ล.3 ที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมแม่น้ำและลำคลอง จากเดิม 30 แห่ง ระยะทาง 386.98 กม. เพิ่มขึ้น เป็น 33 แห่ง ระยะทาง 390.35 กม.
related