svasdssvasds

“เอ็นไอเอ” อัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือ

“เอ็นไอเอ” อัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือ

“เอ็นไอเอ” เดินเครื่องอัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือผ่าน Strategic Location โชว์ฟอร์ม 2 ย่านนวัตกรรม หนุนแจ้งเกิดธุรกิจ พร้อมเสริมทัพการลงทุนภูมิภาคเหนือ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าปัจจุบันหลายประเทศขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี  ประเทศไทยก็มีความพยามในการนำนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศอย่างมากในทุกมิติ ผ่านหน่วยงานหัวเรือใหญ่อย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งเดินหน้ายกระดับศักยภาพนวัตกรรมไทยผ่านการพัฒนาย่านนวัตกรร ล่าสุดได้มีการชูความพร้อม 2 ย่านนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกที่ปัจจุบันมีความโดดเด่นทั้งมิติบุคลากรทางการแพทย์ ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทของนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักของประเทศผ่านความพร้อมด้านระบบนิเวศและนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานทั้งด้านการผลิตพืช การผลิตสัตว์ การประมง อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป และพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้ทั้ง 2 ย่านสามารถดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาค

โดย “ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า แนวคิดย่านนวัตกรรมเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นการพัฒนาเมืองและย่านให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมมารวมกันเป็นคลัสเตอร์ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจตามบริบท – ศักยภาพของแต่ละพื้นที่

สำหรับประเทศไทย นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วยังมีอีกหลายจังหวัดในระดับภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าจาการพัฒนาย่านนวัตกรรมโดยเฉพาะ “จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งปัจจุบันเลือกปักหมุดความโดดเด่น 2 ด้านคือ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (อำเภอเมือง) และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ (อำเภอสันทราย) โดยทั้ง 2 ย่านนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการดึงดูดความสนใจจากภาคการลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติ

“เอ็นไอเอ” อัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือ

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกเป็นหนึ่งในความโดดเด่นของเชียงใหม่ เนื่องจากมีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล สถานบริการทางการแพทย์ คลินิกเอกชน บุคลากรด้านการแพทย์จำนวนมากกว่า 7,400 ราย มีพื้นที่วิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์และแบ่งปันไอเดียอย่าง Co – Working Space ซึ่งสามารถรองรับกลุ่มคนที่เข้ามาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักธุรกิจ นักลงทุน และสตาร์ทอัพ โดยปัจจุบันมีธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทางด้านการแพทย์เข้ามาดำเนินธุรกิจภายในย่านแล้วกว่า 150 ราย

“การทำงานของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกมีกลไกเดียวกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี คือทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมการแพทย์ของไทย ช่วยสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาให้ทำงานร่วมกันมากขึ้นผ่านหลากหลายโครงการในย่าน รวมถึงช่วยดึงดูดเงินลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่สนใจในระดับภูมิภาคเอเชีย”

นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนเป็น Sandbox หรือ Playground ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งมิติของงานวิจัย การวิจัยทางคลินิก การพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตที่สามารถนำมาใช้จริงกับสถานพยาบาล โดย NIA ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาย่านดังกล่าวให้เป็นเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกันกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้ประกาศลงนามในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

“เอ็นไอเอ” อัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือ

สำหรับความพร้อมในด้านระบบนิเวศของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก มีบุคลากรเฉพาะทางรวม 3,842 ราย บุคลากรสนับสนุน 3,453 ราย เตียงทางการแพทย์ 1,647 เตียง นักศึกษากว่า 11,000 ราย ทรัพย์สินทางปัญญาย้อนหลังล่าสุด 3 ปี จำนวน 122 รายการ มีนวัตกรรมพร้อมใช้งานทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ 61 นวัตกรรม

ด้านเภสัชกรรมและการบำบัดโรค 13 นวัตกรรม ด้านภูมิคุ้มกันและวัคซีน 5 นวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลและข้อมูล 27 นวัตกรรม ด้านการวินิจฉัยและห้องปฏิบัติการรวม 2 นวัตกรรม และอื่น ๆ 31 นวัตกรรม มีเครือข่ายที่เป็นสถาบันต่าง ๆ รวมกว่า 25 แห่ง อีกทั้งยังมีแหล่งทุนเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง การจับคู่ธุรกิจให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนที่สนใจ ตลอดจนพื้นที่ทดลองนวัตกรรมทางการแพทย์ “Regulatory Sandbox” ที่เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมือนตลาดจริง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมหรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ

ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า NIA ยังได้สนับสนุนการพัฒนาย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ ให้เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจากลักษณะทางกายภาพและภูมิอากาศที่เหมาะสม ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ รวมถึงความหสากหลายทางชีวภาพบนเนื้อที่กว่า 6.27 ตารางกิโลเมตร ที่สามารถรองรับได้ทั้งการทำงานวิจัย การทดลองทำธุรกิจของสตาร์ทอัพ การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นพื้นที่จ้างงานตำแหน่งใหม่ในอนาคต

“เอ็นไอเอ” อัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือ

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่พร้อมถ่ายทอดในหลากหลายด้าน ได้แก่ การผลิตพืช เช่น ระบบแนะนำวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การผลิตไม้ผลในโรงเรือนระบบปิดด้วยระบบฟาร์มอัจฉริยะ โมบายแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกร การผลิตสัตว์ เช่น โรงงานอาหารสัตว์อินทรีย์ ระบบการจัดการฟาร์มแบบ Smart Livestock การประมง เช่น ระบบให้อาหารปลาอัตโนมัติสำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ บ่อเลี้ยงปลาพลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป เช่น การเพิ่มมูลค่าอาหารจากทุนทางวัฒนธรรม การออกแบบนวัตกรรมที่เหมาะกับสินค้า และพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่มีนวัตกรรมรองรับเทรนด์การเกษตรและการผลิตอาหารใหม่ที่สอดคล้องกับการใช้พลังงานและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโลก

นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นใน 3 สินทรัพย์สำคัญคือ สินทรัพย์ทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมถึงถนนและโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบและจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อความร่วมมือทางนวัตกรรม สินทรัพย์เครือข่าย ที่เป็นสถาบันที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์วิจัยพืชไร่ เชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิสาหกิจภายในย่าน รวมถึงสถาบันการเงิน และสินทรัพย์สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ กลุ่มองค์กรที่ขับเคลื่อนการปลูกฝังหรือสนับสนุนสภาพแวดล้อมให้เกิดนวัตกรรม เช่น สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร ผู้ประกอบการด้านเกษตรและอาหาร เทคโนโลยีดิจิทัลและงานที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรมขนาดเล็ก ทั้งนี้  NIA มุ่งหวังว่าการจัดตั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการชับเคลื่อนให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลก ไม่ว่าจะในมิติของการส่งออก การลงทุน การผลิต รวมถึงเป็นแลนด์มาร์คเชื่อมโยงภาครัฐและภาคธุรกิจที่สามารถผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น ยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทย และขับเคลื่อน GDP ภาคเกษตรและอาหารให้เกิดการขยายตัว

ไม่เพียงเท่านี้ NIA ยังเปิดตัว 2 นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์เทศกาลท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ “S.N.A.P Platform” ระบบรวบรวมและวิเคราะห์ภาพกล้องวงจรปิด (CCTV) ด้วย AI อัตโนมัติ สำหรับเฝ้าระวังอาชญากรรมและอุบัติเหตุ เพื่อหนุนการท่องเที่ยวปลอดภัยในจังหวัดเชียงใหม่ มีความสามารถในการวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิด

“เอ็นไอเอ” อัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือ

นอกจากนี้เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเชิงวิเคราะห์ที่เป็นเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามอาชญากรรมและอุบัติเหตุให้รวดเร็วขึ้น และลดงบประมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิดใหม่ได้มากถึง 10 เท่า และ “รีโคเวอรี่ แพลตฟอร์ม” นวัตกรรมที่ช่วยออกแบบ ประเมิน วางแผน และติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวเฉพาะรายบุคคลและเฉพาะโรค ที่จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ และรองรับการขยายตัวของสังคมสูงวัยในเชียงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อํานวยการสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพและความพร้อมต่อการเติบโตของนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การอยู่อาศัย การแพทย์ การเกษตร ฯลฯ อีกทั้งยังพร้อมต่อการรองรับกลุ่มดิจิทัลโนแมดและสตาร์ทอัพจากทั่วโลก และที่สำคัญ เชียงใหม่ คือเมืองแห่งการท่องเที่ยว

ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทยยังไม่กลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 สิ่งที่จะช่วงผลักดันให้การเติบโตของนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากขึ้นนั่นคือเรื่อง “ความปลอดภัย” ดังนั้น NIA จึงเดินหน้าทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมที่จะช่วยผลักดันเชียงใหม่ให้น่าอยู่อาศัย น่าลงทุนทำธุรกิจ น่าท่องเที่ยวมากขึ้น ตลอดจนสามารถผลิตนวัตกรรมที่ตรงกับบริบทและประเด็นทางสังคม ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายคือการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย จึงได้สนับสนุนโครงการ "S.N.A.P Platform: ระบบรวบรวมและวิเคราะห์ภาพกล้องวงจรปิด (CCTV) ด้วย AI อัตโนมัติ สำหรับเฝ้าระวังอาชญากรรมและอุบัติเหตุ

ภายใต้กลไกของนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ ประหยัดงบประมาณในการสั่งซื้อกล้องใหม่ของหน่วยงาน และแป็นประโยชน์ในการวางแผนกระจายกำลังพลตำรวจท่องเที่ยวให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ซึ่งเกิดผลลัพธ์ในการช่วยลดสถิติการก่ออาชญากรรมในพื้นที่เชียงใหม่ โดนตัวอย่างการนำเทคโนโลยีไปใช้ ร่วมกับรถตัวรวจเคลื่อนที่ บริเวณลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 นั้น ในปีก่อนๆ พื้นที่นี้จะมีการแอดอัด และเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันในบางครั้ง แต่เมื่อใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว ในปี 2566 นี้ ทำให้ไม่เกิดการก่อคดีทะเลาะวิวาทเลย ครั้งตลอดช่วงเทศกาล ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับในปีก่อนการใช้แพลตฟอร์ม

NIA ให้การสนับสนุนบริษัท อินฟีนิตี้ เจ็น จำกัด ผู้คิดค้นนวัตกรรม S.N.A.P Platform ซอฟต์แวร์ที่สามารถเชื่อมต่อกล้องวงจรปิดยี่ห้อต่างๆ จากหลายหน่วยงานให้สามารถเชื่อมต่อและแสดงผลบนแพลตฟอร์มเดียวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งกล้องใหม่ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาพัฒนากล้องเดิมให้ฉลาดมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ภาพ เช่น พฤติกรรมการเคลื่อนไหว อัตลักษณ์การแต่งกาย ประเภทและความหนาแน่นของยานพาหนะ และเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเชิงวิเคราะห์ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ช่วยยกระดับการบริการประชาชนด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและอุบัติเหตุให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดงบประมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิดใหม่เบื้องต้นลงได้มากถึง 10 เท่า”

ปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เขตการดูแลของตำรวจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่ให้นำเทคโนโลยีมาช่วยทำงาน และนโยบาย พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท. ที่ให้นำเทคโนโลยีไปใช้ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ตามนโยบาย S.T.C. (Strong Tourism Community)

โดยกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงมีทั้งกลุ่มตำรวจท่องเที่ยว เทศบาลนครเชียงใหม่ ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว นวัตกรรมนี้สามารถพัฒนากล้องเก่าให้เป็น AI ได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่าการซื้อกล้องพร้อม AI ใหม่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังอาชญากรรมและอุบัติเหตุ รวมถึงยกระดับการให้บริการความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะมาทดแทนการสั่งซื้ออุปกรณ์รุ่นใหม่ ซึ่งหากอ้างอิงจากหน่วยงานราชการแต่ละครั้งจะมีการใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 10,000,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเชียงใหม่ และเป็นต้นแบบการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้และเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานราชการ

“เอ็นไอเอ” อัพสปีดเศรษฐกิจไทย ดันเมืองเชียงใหม่ เมืองนวัตกรรมภาคเหนือ

ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า นอกจากการนำนวัตกรรมมาช่วยส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัยแล้ว NIA ยังเห็นศักยภาพความพร้อมของเชียงใหม่ในด้านการแพทย์และสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย รวมถึงประเด็นท้าทายอย่างสังคมสูงวัย จึงมุ่งส่งเสริมเชียงใหม่ให้เป็นสังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันเชียงใหม่มีผู้สูงอายุมากกว่า 404,000 คน (ข้อมูล ณ. เดือนตุลาคม 2566) มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งจังหวัด และเป็นจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว  โดยเฉพาะการรับบริการด้านสุขภาพที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ในภาพรวมประเทศไทยยังมีปัญหาอัตราส่วนนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญที่น้อยมากเพียง 10 คนต่อผู้ป่วยที่ต้องการกายภาพบำบัด 1,000,000 คน

ขณะที่ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัวที่ต้องการทำกายภาพบำบัดมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี ส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัวกว่าร้อยละ 50 ได้รับการฟื้นฟูที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น NIA จึงได้สนับสนุนทุนโครงการนวัตกรรมเเบบเปิด (OPEN INNOVATION) ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับการพัฒนาต้นเเบบที่พร้อมนำไปขยายผลเชิงพาณิชย์ ให้กับบริษัท ชีวาแคร์ จำกัด  ในการพัฒนาเเพลตฟอร์ม “รีโคเวอรี่ แพลตฟอร์ม” นวัตกรรมที่จะมาช่วยออกแบบ ประเมิน วางแผน และติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวเฉพาะรายบุคคลและเฉพาะโรค ซึ่งจะมาช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“รีโคเวอรี่ แพลตฟอร์ม” ถือเป็นหนึ่งผลสำเร็จของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก โดยเป็นโปรแกรมที่ช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานของแพลตฟอร์มนี้จะใช้หลักการ “patient-centric and holistic approach” ร่วมกัน เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ตอบสนองความต้องการ และเพื่อประสิทธิภาพในการฟื้นตัวอย่างดีที่สุดทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถประเมิน วางแผน และติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวผ่านระบบที่ถูกออกแบบมาเฉพาะบุคคลและเฉพาะโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต ภาวะหลังการผ่าตัดกระดูกและข้อ โรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ปัจจุบันบริษัทมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยและการรักษาที่เกี่ยวข้องไปแล้วมากกว่า 20,000 เคส มีผู้ป่วยที่เคยใช้บริการแบบ remote online tracking and monitoring ไปแล้วกว่า 1,000 ราย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังเกิดโรคมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ลดระยะเวลาและความรุนแรงในการเกิดทุพลภาพ ลดภาวะพึ่งพิง ลดการใช้ยา ลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน และเพิ่มความสะดวกสบาย สามารถรักษาฟื้นฟูที่บ้านได้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย”

นอกจากนี้ NIA ยังได้จัดการประชุมเครือข่ายนวัตกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ภาคเหนือร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสมาคม กว่า 10 หน่วยงาน โดยได้มีโอกาสนำเสนอบทบาทของ NIA ในการเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal conductor) และแนวทางการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2567 - 2571 ที่มี 3 พันธกิจหลัก ได้แก่ 1) สร้างและส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ 2) สร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงการสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และ 3) ยกระดับทักษะและขีดความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยมี 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) การสร้างเชื่อมโยงแพลตฟอร์มพัฒนา IBEs

 2) การสร้างนวัตกรและ IBEs ผ่าน NIA Academy 3) การสร้างระบบนวัตกรรมไทยและ Innovation Ecosystem ให้เข้มแข็ง 4) การยกระดับนวัตกรรมไทยในดัชนีนวัตกรรมโลก และ 5) การปรับบทบาท NIA ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมภายใต้กลยุทธ์ของสำนักงาน รวมถึงการนำเสนอกลไกสนับสนุนด้านการเงินรูปแบบใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนนวัตกรรมให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น และยังเปิดโอกาสให้เครือข่ายได้ร่วมเเลกเปลี่ยนบทบาทในการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมตลอดจนระบบนิเวศนวัตกรรมในพื้นที่ภูมิภาคเหนือให้เเข็งเเกร่งขึ้นในอนาคต

นี่คือแผนงานทั้งหมดของ NIA ในการดันเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองที่สำคัญของภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related