ทำความเข้าใจ หนี้นอกระบบ เงินกู้นอกระบบ ปัญหาตอใหญ่ ที่ยืนตระหง่านขวาง และอาจจะเป็นเหมือน กับดักฉุดรั้งความก้าวหน้าประเทศไทยไว้
ทำยังไงได้ก็ไม่ได้เกิดมาบนกองทอง พ่อแม่พี่น้องทุกคนก็ประชาชนเดินดิน หากชีวิตนี้ไม่สิ้น ก็ดิ้นกันไป...ชีวิตนี้ใช้หนี้อย่างเดียว...นี่คือบทเพลง "ชีวิตหนี้" ที่มีวรรคทองซึ่งเป็นความ "อมตะ" ของสังคมไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี
หนึ่งในปัญหาสำคัญของ สังคมไทย คือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน และหากจะลงลึกเข้าไปอีกขึ้น ถึง ปัญหาหนี้นอกระบบ หรือ เงินกู้นอกระบบ ซึ่งมันจะเป็น "มะเร็งร้าย" ที่ค่อยๆ กัดกินชีวิตของคนไทยอย่างช้าๆ ให้ตายอย่างทรมาน
รู้ไหมว่า วันนี้จำนวนครัวเรือนไทยที่มีหนี้นอกระบบนั้น มีมากกว่า 800,000 ครัวเรือน ปัญหาของเรื่องนี้เกิดจากอะไร ? เรามาลองไล่เรียงกัน
หากจะลองอธิบายให้เข้าใจ คำว่า “หนี้นอกระบบ” แบบง่าย ๆ หนี้นอกระบบ ก็คือ เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกันเองระหว่างประชาชน โดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งมันก็คือ "เงินกู้นอกระบบ" นั่นเอง
โดยเจ้าหนี้จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับลูกหนี้มากกว่า 28% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ปัญหาหนี้นอกระบบนี้ เกิดขึ้นเพราะ ลูกหนี้ไม่สามารถ เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ จะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม และลูกหนี้มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน จึงจำใจต้องเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ ซึ่งในสุดท้ายแล้ว มันอาจจะกลายเป็น วงจรบาป เป็นชนักปักหลังที่ดึงไม่ออก
ส่วนทางฝั่งเจ้าหนี้ หรือผู้ให้กู้ ก็จะมีกลุ่มที่พร้อมปล่อยสินเชื่อให้คนที่ต้องการเงินเหล่านั้น แล้วคิดดอกเบี้ยสูง ๆ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ผู้มากู้อาจผิดนัดชำระหนี้
รู้ทั้งรู้ และ ทั้งๆที่รู้ว่า , แม้หนี้นอกระบบจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการกู้ในระบบ แต่สาเหตุที่คนบางกลุ่มนิยมใช้บริการกันเยอะก็เพราะ ได้เงินเร็ว ทันใจ สะดวก และไม่มีขั้นตอนในการกู้ที่ยุ่งยาก เมื่อเทียบกับการกู้เงินในระบบ
โดย การที่ผู้กู้ไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
ปัญหา การกู้ในระบบไม่ผ่าน เหล่านี้ จึงผลักดันให้ลูกหนี้ ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน ไปตายเอาดาบหน้า ไปหาเงินกู้นอกระบบ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ต้องแลกมาด้วยการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า การกู้หนี้ในระบบอย่างมาก จนหลายครั้งเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้นอกระบบได้ จึงนำไปสู่ปัญหาหลายอย่างตามมา เปรียบเสมือน ลิงแก้แห ที่ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง
จากผลสำรวจเรื่อง “หนี้นอกระบบในประเทศไทยเป็นอย่างไร” พบว่า เหตุผลของการเป็นหนี้นอกระบบ ที่ค่อยๆกัดกินระบบการเงินในครอบครัวไทย
อันดับ 1 เพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน ในสัดส่วน 46.8%
อันดับ 2 เพื่อนำมาลงทุนประกอบอาชีพ ในสัดส่วน 41.5%
อันดับ 3 เพื่อใช้คืนหนี้เก่าทั้งในระบบและนอกระบบ ในสัดส่วน 9.4%
อันดับ 4 เพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ซื้อเครื่องประดับ และโทรศัพท์มือถือ ในสัดส่วน 2.3%
ปัญหาหนี้นอกระบบ มักนำไปสู่อันตรายในชีวิตและทรัพย์สินของลูกหนี้ เนื่องจากถูกทวงหนี้โดยใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือทำลายทรัพย์สิน นอกจากปัญหาความรุนแรงจากการทวงหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังอาจเผชิญปัญหาการทำสัญญากู้ยืมที่อำพรางดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด (15% ต่อปี)
.
สำหรับ รัฐบาลเศรษฐา 1 ก็มีความพยายาม แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเปิดให้ประชาชน มาลงทะเบียน , ซึ่งจากสถิติตัวเลข ประชาชนลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบแล้ว 75,199 คน ผ่านทาง https://debt.dopa.go.th/ มากสุด กทม.-นครศรีฯ-สงขลา-โคราช-ขอนแก่น ขณะที่มูลหนี้รวม 3,820 ล้านบาท เจ้าหนี้ 47,174 คน โดยปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งบูรณาการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และ รัฐบาล พยายามเป็น "ตัวกลาง" ในการเจรจาหาจุดที่ลงตัว ระหว่าง "ลูกหนี้ - เจ้าหนี้"
แต่ที่สำคัญที่สุด เรื่องของ “วินัย” ในการใช้จ่ายและการกู้ยืม ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้ปัญหาหนี้ ค่อย ๆ ลดลงจากสังคมไทยได้ในที่สุด...