เป็น “หนี้นอกระบบ” เริ่มเห็นแสงสว่าง ! วันนี้จะพามาเปิดมาตรการ "แก้หนี้นอกระบบ"เบื้องต้น ดูแลสัญญา ดอกเบี้ย ทวงหนี้ ให้ถูกต้องกฎหมาย
ทางออกของคนเป็นหนี้นอกระบบ กำลังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว หลังจากที่การแถลงนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลตั้งเป้าเอาจริง โดยนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันจะให้ความเป็นธรรม ทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ตามกรอบกฎหมาย ซึ่งจะจัดการ 3 เรื่องหลัก ที่เป็นปัญหาของหนี้นอกระบบ คือ สัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดอกเบี้ยที่สูงเกินไปมาก การทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง
ทั้งนี้กระบวนการทำงานแก้หนี้นอกระบบเบื้องต้นที่สรุปความได้คือ การร่วมมือสอดคล้องเป็นเอกภาพ และมี KPI ที่ชัดเจนของ 3 หน่วยงาน คือ มหาดไทย ตำรวจ กระทรวงการคลัง ผ่าน 3 วิธีการทำงาน ดังนี้
โดยให้กระทรวงมหาดไทย (โดยนายอำเภอ) กับตำรวจ (ผู้กำกับ) รวบรมข้อมูลหนี้นอกระบบในพื้นที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งหากเจ้าหนี้รายใดใช้ความรุนแรงก็จะจัดการตามกฎหมาย ขณะที่ประชาชนก็ลงทะเบียนโดยตรงกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ-จังหวัด หรือสำนักงานเขตได้ เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค.66
สำหรับขั้นต่อมาคือ ตัวแทนภาครัฐ คือ นายอำเภอและผู้กำกับจะเป็นตัวกลางช่วยเจรจาข้อพิพาท ปรับโครงสร้างหนี้กันให้เป็นที่ยุติว่าไม่เอาเปรียบลูกหนี้จนลูกนี้แทบทำอะไรไม่ได้เลย
หลังจากนั้นจะเข้าสู่มือของกระทรวงการคลัง ที่จะมารับช่วงต่อให้ลูกหนี้ได้พอบรรเทาทุกข์ได้ ผ่านโครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบโดยธนาคารออมสิน จะมีวงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท รองรับลูกหนี้นอกระบบที่การเข้าสู่ระบบ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อเป็นเงินทุนหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี หรือ 96 งวด สำหรับเกษตรกรที่มีสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนโดย ธ.ก.ส. เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี
อย่างไรก็ตามสำหรับเจ้าหนี้นอกระบบ หากต้องการจะเข้าสู่ระบบ ต้องการจะประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังได้ ซึ่งใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์มีเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้น คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
เป็นหนี้นอกระบบก่อนอื่นต้องตั้งสติ และค่อยๆแก้ไขปัญหาไปทีละขั้นตอน เพราะรัฐบาลก็คืออีกหนึ่งทางออกที่กำลังจะเข้ามาช่วยคนที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่ในขณะนี้ !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง