svasdssvasds

"เศรษฐา" สั่งลุยแก้ "หนี้นอกระบบ" ตั้งศูนย์ทั่วประเทศ เปิดลงทะเบียน 1 ธ.ค.

"เศรษฐา" สั่งลุยแก้ "หนี้นอกระบบ" ตั้งศูนย์ทั่วประเทศ เปิดลงทะเบียน 1 ธ.ค.

รัฐบาลประกาศแก้ "หนี้นอกระบบ" เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเปิดโต๊ะเจรจาเจ้าหนี้-ลูกหนี้ทำสัญญาถูกกฎหมาย นายกฯ สั่งเปิดศูนย์แก้หนี้นอกระบบทั่วประเทศ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน 1 ธ.ค.นี้ ตั้งกลไกติดตามรายงานความคืบหน้าทุก 15 วัน

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าวันนี้ (28 พ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำแถลง "วาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ" ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดย นายกฯ ประกาศการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ และเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ เป็นวาระแห่งชาติ เพราะลูกหนี้ใช้หนี้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด ปิดโอกาสต่อยอดในชีวิต กระทบกับทุกส่วน เป็นการค้าที่พรากอิสระและความฝันไปจากผู้คน 

ดังนั้นจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และกระทรวงการคลัง โดยเริ่มจากกระบวนการไกล่เกลี่ยนที่ภาครัฐเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ให้ลูกหนี้มีโอกาสหาเงินมาปิดหนี้ให้ได้ ไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรอีก 

และจะมีการทำฐานข้อมูลกลาง แทรคกิ้งไอดีติดตามผลได้ ประชาชนสามารถเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบตามความสะดวก และมีการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เมื่อเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้องแล้วทั้งตำรวจ และมหาดไทยจะมี KPI และกรอบเวลาร่วมกันในการทำงาน

นายกฯ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นปรับโครงสร้างหนี้โดยกระทรวงการคลัง ปรับระยะเวลาเงื่อนไข ให้ลูกหนี้ใช้หนี้ได้ 

แต่โครงการนี้ ไม่ใช่ยาปาฏิหารย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบหมดไป แต่หากเศรษฐกิจดีขึ้นไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น จะทำให้โครงการนี้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นทาสหนี้ และมีแรงบันดาลใจในการทำตามความฝัน นายเศรษฐา กล่าวและว่า ในวันที่ 12 ธ.ค.รัฐบาลจะแถลงภาพรวมหนี้ทั้งในและนอกระบบอีกครั้ง 

 

โดยขั้นตอนภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แล้วจะให้มีการดำเนินการผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยเปิดระบบลงทะเบียนให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบตั้งแต่ 1 ธ.ค. 66 เป็นต้นไป ควบคู่กับการเปิดให้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในการให้ความช่วยเหลือกระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกทางปกครองและอำนาจตามกฎหมายที่มีในการช่วยไกล่เกลี่ย หากกรณีใดอยู่นอกเหนืออำนาจฝ่ายปกครอง จะรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  

มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้เฝ้าระวังสอดส่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ เช่น นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ การทวงถามหนี้ โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ฯลฯ โดยให้รายงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ยังต้องมีการกวดขันธุรกิจทวงถามหนี้ ได้ดำเนินการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามพระราชบัญญัติ 2558 ให้มาลงทะเบียนตามกฎหมายกำหนด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยได้ให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ" พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา

ประชาชนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว หรือสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

มาตรการปราบปราม "หนี้นอกระบบ" 

  1. กรณีพบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ หรือการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้ดำเนินการตามพฤติการณ์ที่กระทำความผิด ตามกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ กฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ย เกินอัตรา รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มอบหมายภารกิจให้ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองจังหวัด และชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ
  2. การบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย ให้ประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม

สำหรับการรายงานผลให้จังหวัด/อำเภอที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนหรือดำเนินคดีเกี่ยวกับ ปัญหาหนี้นอกระบบ รายงานผลการดำเนินงานให้กรมการปกครองทราบทุกวันที่ 15 ของเดือน ผ่านระบบ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกรมการปกครอง โดยเริ่มรายงานครั้งแรกในวันที่ 15 ธันวาคม 2566

กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งให้จังหวัด/อำเภอ จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบในระดับจังหวัดและอำเภอ และดำเนินการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ให้ลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือลงทะเบียน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขตทุกแห่ง รวมทั้งเร่งรัดให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้นอกระบบ ที่ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว มาตรการช่วยเหลือ การรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ กำหนดให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถ ลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ตามที่กระทรวงมหาดไทยประชาสัมพันธ์

กรณีลูกหนี้นอกระบบที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ ในส่วนภูมิภาคให้ติดต่อที่ว่าการอำเภอ สำหรับกรุงเทพมหานครติดต่อสำนักงานเขต

ในการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์รับการช่วยเหลือหรือให้ทางราชการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยกรมการปกครองจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้นอกระบบ ที่ลงทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ของกรมการปกครอง สำหรับรายชื่อลูกหนี้นอกระบบที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะรวบรวมนำข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป และกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ ดังนี้

กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้อำเภอใช้กลไกการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 61/1 และมาตรา 61/2 และพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. 2565 ในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ ส่วนในพื้นที่ กทม.ให้สำนักงานเขตทุกแห่งเป็นหน่วยรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบด้วย

โดยกระทรวงมหาดไทยจะมีการประชุมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม  ณ อิมแพ็ค อารีน่าเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ลูกหนี้นอกระบบ หลังมีการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ก็จะเข้าไปช่วยเหลือด้านสินเชื่อ โดยเปิดให้ลูกหนี้กู้ได้ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี รวมถึงโครงการสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระ เพื่อส่งเสริมอาชีพนั้น ก็สามารถกู้ได้สูงสุด 100,000 บาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 8 ปี

ซึ่งอัตราดอกเบี้ย จะเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้ และธนาคาร ธ.ก.ส. ก็มีโครงการรองรับเกษตรกร เช่น กรณีติดจำนองที่ดินหนี้นอกระบบ ธ.ส.ก. ก็มีวงเงินสำหรับเกษตรกร รายละไม่เกิน 2,500,000 บาท/ราย เพื่อนำไปแก้ปัญหาที่ทำกิน รวมถึงผู้ประกอบการเจ้าหนี้ ที่ต้องการดำเนินการให้ถูกกฎหมาย ก็สามารถขออนุญาตดำเนินการได้ในรูปแบบพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมภายหลังนายกรัฐมนตรีแถลงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ว่าสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการแก้หนี้นอกระบบที่เป็นรูปธรรม คือการจัดตั้งศูนย์ ให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบมันขึ้นทะเบียนและเปิดโอกาสให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ด้วย โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลลูกหนี้ ขณะเดียวกันลูกหนี้สามารถเดินทางมาร้องเรียนเองที่อำเภอหรือสำนักงานเขตได้ โดยมีเจ้าหน้าที่เพราะอำนวยความสะดวก

นอกจากนี้ คนที่กลัวจนไม่กล้าจะทำอะไรกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ใช้กลไกมหาดไทย ลงพื้นที่สำรวจ สอบถาม เยี่ยมเยียน ก่อนนำมาจัดทำเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ขณะเดียวกันมอบหมายให้นายอำเภอ รวมถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจ ไปไกล่เกลี่ยแก้หนี้ให้ประขาชนเพราะอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งจะพยายามแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด

ส่วนการแก้ไขหนี้นอกระบบ จะรวมเป็นบัญชีเดียวกับผู้มีอิทธิพลด้วยหรือไม่ นั้นนายอนุทิน กล่าวว่า หากเจ้าหนี้มีพฤติกรรมข่มเหงรังแกชาวบ้าน และใช้อิทธิพล จนนำมาสู่ความเดือดร้อน ก็จะเข้าสู่ลักษณะของผู้มีอิทธิพล หากมีการใช้อาวุธปืนด้วยก็ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการหลักนิติรัฐให้มากที่สุด ใช้กฎหมายดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันจากทุกฝ่าย

ส่วนวันที่ 1 ธันวาคมนี้ อย่ามองว่าเป็นวันดีเดย์ในการแก้หนี้นอกระบบ เพราะที่ผ่านมาก็มีการแก้ปัญหามาโดยตลอด เมื่อทำผิดกฏหมาย คิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การแถลงนโยบายแก้หนี้นอกระบบของนายกฯวันนี้ ถือว่ามีนโยบายปิดท้าย โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง นำสถาบันการเงินให้เข้ามาให้กู้ยืม เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการแก้ให้ประชาชนไม่มีหนี้ จะยกหนี้ให้ไม่ได้ หาแหล่งเงินมาให้ประชาชนรีไฟแนนซ์

ส่วนเจ้าหนี้จะเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับผู้มีอิทธิพล ทางกรมการปกครองมีมาตรฐานอยู่ 16 พื้นฐานความผิด โดยเน้นไปที่การใช้อิทธิพล ข่มเหง รังแกประชาชน ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ซึ่งต้องใช้กฎหมายดำเนินคดีเพราะทำผิดต่อบ้านเมือง ส่วนการแก้หนี้คือการไกล่เกลี่ยกัน 

เมื่อถามว่า หากพบข้าราชการเป็นเจ้าหนี้เองจะดำเนินการอย่างไร นายอนุทิน เชื่อว่าจะเป็นลูกหนี้มากกว่า ขออย่าคิดว่าจะมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะข้าราชการประจำเงินเดือน 3-4 หมื่นบาทเท่านั้น แล้วจะเอาที่ไหนไปปล่อยกู้ แต่หากเป็นเจ้าหนี้จริงแล้วถูกร้องเรียนเข้ามา ก็ไม่มองว่าเขาเป็นข้าราชการแต่เป็นเจ้าหนี้ที่ข่มเหงรังแกประชาชน ส่วนข้อหาจะหนักกว่าประชาชนธรรมดาหรือไม่ก็ต้องว่าตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้หนี้นอกระบบ ได้แก่

  • พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 61/1 และมาตรา 61/2
  • พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558
  • พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
  • พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
  • พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
  • พระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. 2565
  • คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๗๓๙/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๖ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ , กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related