มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล-สสส. เดินหน้ายุติ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก หลังสถิติปี 65 ยอดพุ่ง 3 เท่า และพบว่ากว่า 80% ของความรุนแรงในครอบครัว มีเหล้า-ยาเป็นปัจจัยกระตุ้น
วันที่ 25 พ.ย. 2566 ที่ศูนย์การค้าจามจุรีสแควร์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับบริษัท สปา - ฮาคูโฮโด จำกัด (SPA HAKUHODO) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “หยุดสัญญาณร้าย..ก่อนกลายเป็นข่าวพาดหัว” เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
นอกจากนี้ยังได้จัดทำหนังสือพิมพ์เฉพาะกิจ จำลองสถานการณ์ความรุนแรงที่กลายเป็นข่าวพาดหัวแจกจ่ายกลางเมือง แจกผู้ร่วมงานและประชาชนทั่วไป เพื่อการกระตุ้นเตือนให้สังคมเฝ้าสังเกต และไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณอันตราย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวว่า ความสำคัญของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว และหาแนวทางไปสู่การแก้ไข เพราะหากไม่ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจะส่งผลกระทบต่อการมีสุขภาวะทั้ง กาย จิต ปัญญา และสังคม โดยจากข้อมูลผู้ขอคำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี 2565 พบผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้กระทำส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์และสารเสพติดเป็นตัวกระตุ้น โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นทางของปัญหา 4 มิติ ดังนี้
1.ด้านสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ โรคตับ โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน
2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน
3.ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ทำให้สูญเสียค่ารักษาพยาบาลมหาศาล หน้าที่การงานมีปัญหา ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ ประเทศขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านลบต่อประเทศชัดเจน
4.ความรุนแรงในครอบครัว การศึกษาพบว่า 80% ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ “ข้อมูลล่าสุดของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังทำให้พบว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และที่สำคัญคือผู้ถูกกระทำทุกคนหรือ 100% ถูกกระทำซ้ำและทวีความรุนแรงขึ้น จุดนี้ยิ่งทำให้ สสส. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เดินหน้าเชิงรุก ประกาศเจตนารมณ์เดียวกันที่จะทำให้เหตุการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลงให้มากที่สุด และกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการเปิดประสบการณ์ สัญญาณ ร้าย... ก่อนกลายเป็นข่าวพาดหัว ซึ่งมีกรณีผู้ประสบปัญหาจริงมาเล่าประสบการณ์ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2565 ที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ พบแนวโน้มการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า โดยมีรายงานข่าวถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 ที่มี 373 เหตุการณ์ ปี 2563 มี 593 เหตุการณ์ ปี 2561 มี 623 เหตุการณ์ และ ปี 2559 มี 466 เหตุการณ์ ลักษณะที่พบมากสุดในปี 2565 คือ ฆ่ากัน 534 เหตุการณ์ คิดเป็น 47.2% ทำร้ายกัน 323 เหตุการณ์ คิดเป็น 28.6% ฆ่าตัวตาย 155 เหตุการณ์ คิดเป็น 13.7% ความรุนแรงทางเพศ 64 เหตุการณ์ คิดเป็น 5.6% และความรุนแรงในครอบครัว 55 เหตุการณ์ คิดเป็น 4.9%
นางสาวจรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่น่าห่วงคือการมองปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวภายใต้ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกันโดยจับสัญญาณตั้งแต่ระยะแรก มีปัจจัยกระตุ้นจากแอลกอฮอล์ ซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การแก้ไขหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ให้มีทักษะในการจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัวเพื่อช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และพัฒนากลไกให้การคุ้มครองผู้ประสบปัญหาและการปรับทัศนคติผู้กระทำด้วย ที่สำคัญคือการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ภรรยาไม่ใช่สมบัติของสามี”
ส่วนทางด้าน ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ก็ได้กล่าวบนเวทีว่า สถิติข่าวความรุนแรงที่รับรู้ผ่านสื่อมวลชน ยืนยันว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงที่ทุกองคาพยพของสังคมไทยต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะไม่ได้สร้างความทุกข์และความเสียหายเฉพาะกับผู้ถูกกระทำ แต่ส่งผลกระทบเรื้อรังไปถึงคนรุ่นต่อไปที่ต้องเติบโตมาในครอบครัวและสังคมที่มีการใช้ความรุนแรงด้วย โดยอยากให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงนี้ และคาดหวังว่าหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีทรัพยากร กำลังคน และอำนาจทางการบริหารที่จำเป็นในการจัดการปัญหา กำหนดยุทธศาสตร์ วางแผน และลงมือปฏิบัติการเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง
"เพราะว่าแม้จะพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของไทยให้ก้าวหน้าไปอย่างไร หากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและได้ผล ปัญหานี้จะกลายเป็นตัวบ่อนเซาะทำลายรากฐานคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวม และยิ่งเห็นผลกระทบของปัญหาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต" ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง