svasdssvasds

WHO เผย “ความเหงา” เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพเร่งด่วนทั่วโลก

WHO เผย “ความเหงา” เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพเร่งด่วนทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า “ความเหงา” ได้ถูกประกาศให้เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก โดยเป็นสาเหตุคร่าชีวิตผู้คนเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่สูงถึง 15 มวนต่อวัน

“ความเหงา” ภัยคุกคามด้านสุขภาพเร่งด่วนทั่วโลก

เหตุเกิดจาก "ความเหงา" ใครหลายคนอาจมองเป็นแค่เรื่องของอารมณ์หรือความรู้สึกเพียงชั่วขณะหนึ่ง ที่ไม่น่าสร้างปัญหาให้ใคร แต่ข้อมูลล่าสุดของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจความรู้สึกตัวเอง และคนรอบข้างมากขึ้น

รายงานของ WHO ระบุว่า จากการวิเคราะห์บทบาทของการเชื่อมโยงทางสังคมในการปรับปรุงสุขภาพสำหรับคนทุกวัย ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลา 3 ปี และสรุปวิธีแก้ปัญหาเพื่อสร้างการเชื่อมต่อทางสังคมในวงกว้างพบว่า

“อัตราการโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาทั่วโลกที่สูงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้นเพียงพอ มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดสมอง วิตกกังวล ภาวะสมองเสื่อม ซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และอื่นๆ” ดร. เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าว

“ความเหงา” ภัยคุกคามด้านสุขภาพเร่งด่วนทั่วโลก Photo : Freepik

ความเหงา โรคระบาดเงียบ 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้เปิดตัวคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาความเหงา ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการชุดใหม่ด้านการเชื่อมโยงทางสังคม ถูกตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับความเหงา ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพที่เร่งด่วนระดับโลก ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางสังคมและเร่งขยายการตระหนักรู้และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ดร.วิเวก เมอร์ธี ศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า แม้ความเหงามักถูกมองว่าเป็นปัญหาสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อัตราของผู้สูงอายุ 1 ใน 4 คน กำลังประสบปัญหาการแยกตัวจากสังคม ผลการวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการแยกตัวจากสังคมและความเหงาส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต คุณภาพชีวิต และการมีอายุยืนยาวของผู้สูงอายุ 

ความเสี่ยงด้านสุขภาพจาก “ความเหงา” นั้น แย่พอๆ กับการสูบบุหรี่มากถึง 15 มวนต่อวัน โรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย รายงานยังระบุด้วยว่า ความเหงาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกือบ 30%

ความเหงา โรคระบาดเงียบ แย่พอๆ กับการสูบบุหรี่มากถึง 15 มวนต่อวัน Photo : Freepik

ความเหงา ไม่มีอายุหรือขอบเขต

ดร. เมอร์ธีกล่าวเสริมว่าปัญหาเหล่านี้ มีความคล้ายคลึงกันในทุกภูมิภาคของโลก ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น “ความเหงาเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่รุนแรงจนประเมินไม่ได้” เขาเตือน

จากข้อมูลของ WHO ในกลุ่มผู้สูงอายุ ความเหงาสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 50% ในการพัฒนาภาวะสมองเสื่อม และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 30% นอกจากนี้ระหว่าง 5% ถึง 15% ของวัยรุ่นรู้สึกเหงา ตามผลการวิจัย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะประเมินต่ำเกินไป WHO ระบุ

“ความเหงาสามารถก้าวข้ามพรมแดน และกำลังกลายเป็นข้อกังวลด้านสาธารณสุขระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และการพัฒนาในทุกด้าน” นายเอ็มเพมบา กล่าว “ความโดดเดี่ยวทางสังคมไม่มีอายุหรือขอบเขต”

เขาเสริมว่าคนหนุ่มสาวที่ประสบกับความเหงาที่โรงเรียนมีแนวโน้มที่จะออกจากมหาวิทยาลัยมากกว่า นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ลง ความรู้สึกขาดการเชื่อมต่อและไม่ได้รับการสนับสนุนในงานอาจทำให้ความพึงพอใจและประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลงด้วย

สำหรับคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาความเหงา นำโดยศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา ดร.วิเวก เมอร์ธี และทูตเยาวชนของสหภาพแอฟริกา ชิโด เอ็มเพมบา และประกอบด้วยผู้สนับสนุนและรัฐมนตรีของรัฐบาลประเทศต่างๆอีก 11 คน รวมถึงราล์ฟ รีเกนวานู รัฐมนตรีกระทรวงเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวานูอาตู และอายูโกะ คาโตะ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบมาตรการเพื่อความเหงาและความโดดเดี่ยวในญี่ปุ่น

วิธีรับมือ "ความเหงา" หรืออยู่แบบโดดเดี่ยว

  1. รับรู้ความเศร้า : การรับรู้ถึงความเศร้าของตัวเองและอนุญาตให้ตัวเองเกิดความเศร้าได้บ้าง จะช่วยเตือนว่าควรเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขบางสิ่งบางอย่างในตัวเองได้แล้ว
  2. จัดลำดับปัญหา : เมื่อมีปัญหาที่ต้องแก้ไขหลายอย่างพร้อมๆ กัน ให้จัดเรียงปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนขึ้นมาคิดและแก้ปัญหาก่อน ค่อยๆ แก้ทีละปัญหา การแก้ไขปัญหาหลายอย่างในเวลาพร้อมๆ กัน นอกจากสร้างความสับสนให้จิตใจแล้ว ยังทำให้ปัญหาต่างๆ แย่ตามไปด้วย
  3. ใช้เวลากับคนในครอบครัว : การใช้เวลากับคนที่เราไว้วางใจ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนที่สามารถเข้าใจความรู้สึกเรา อาจเป็นการไปพบเพื่อพูดคุยกัน หรือการโทรหากัน เพื่อเล่าเรื่องราวความรู้สึกเศร้าๆ ของเราให้เขาฟัง บางครั้งแค่ได้ระบายความเศร้ากับใครที่เรารู้สึกรักและไว้วางใจ ถึงแม้เขาอาจแค่รับฟังเฉยๆ หรือพูดคุยถามไถ่ หรือให้กำลังใจ นอกจากช่วยให้รับมือกับความเครียดแล้ว ยังทำให้เรามีสติ สามารถปรับตัว มองสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่ดี ทำให้ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้

ที่มาข้อมูล

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

related