กระแส #Metoo เมื่อผู้หญิงรวมตัวกันประกาศให้โลกรู้ ว่าพวกเธอคือเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิสตรีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
การถูกล่วงละเมิดทางเพศดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมไปแล้ว ไล่ตั้งแต่ นักการเมืองหญิง นักแสดงหญิง พนักงานหญิง ไปจนถึงนักเรียนหญิงที่ก็หนีไม่พ้นเรื่องแบบนี้
แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ผู้หญิงที่ถูกกระทำมักจะเลือกเก็บซ่อนเรื่องนี้ไว้ เพราะเกิดความอับอายที่ต้องบอกให้คนอื่นรู้ หรือบางกรณีก็กลัวศูนย์เสียหน้าที่การงานเพราะฝ่ายที่กระทำเป็นคนใหญ่คนโต
ทว่าเวลานี้ การปิดปากให้เงียบนั้นดูเป็นแนวคิดที่ล้าหลังไปแล้ว เพราะการมาถึงของแคมเปญที่ประสบความสำเร็จจนหน้าเหลือเชื่ออย่าง #MeToo ซึ่งสนับสนุนให้ผู้หญิงที่เคยถูกล่วงละเมิดออกมาแสดงพลังพร้อมกัน จนกลายเป็น ปรากฏการณ์ในปี 2017 มาแล้ว
โดยก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น แคมเปญ #MeToo เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว 15 ปี โดย “ทารานา เบิร์ค” (Tarana Burke) นักเคลื่อนไหวผิวสีชาวอเมริกันจากนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งริเริ่มแคมเปญในปี 2007 เมื่อเธอได้บอกกับหญิงผิวสีคนหนึ่งที่เพิ่งเสียขวัญจากการถูกคุกคามทางเพศมาว่า “เธอไม่ได้อยู่ลำพัง แต่ยังมีฉันที่เคยถูกล่วงละเมิดเหมือนกับเธอเช่นกัน”
หลังจากนั้นคำว่า #MeToo ก็เป็นที่รู้จักในฐานะเสียงต่อสู้ของ เบิร์ค และหญิงผิวสีที่ถูกล่วงละเมิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองข้ามมาตลอด
ส่วนที่แคมเปญนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในปี 2017เรื่องมันเกิดจาก “ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein)” ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดัง ถูกสื่อเปิดโปงว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศกับผู้หญิงมานับไม่ถ้วนเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่ที่ผ่านมาเรื่องเงียบตลอดเพราะเขามีทั้งเงิน อำนาจ และเครือข่ายมากมายที่ช่วยให้เขารอดตัวได้ทุกครั้ง
จากการเปิดโปงทำให้มีเหยื่อกว่า 80 รายออกมายืนยันว่า ฮาร์วีย์ คุกคามพวกเธอจริงๆ และในตอนนั้น “อลิสสา มิลาโน (Alyssa Milano)” นักแสดงสาวชื่อดังก็ได้ โพสต์ในทวิตเตอร์ว่า “ถ้าคุณเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้ติดแฮชแท็ก #MeToo เพื่อตอบรับทวิตนี้” ทำให้มีคนนับล้านร่วมกันติดแฮชแท็กนี้ ซึ่งรวมถึงเหล่าบรรดาดารานักร้องและเซเลบมากมาย
โดยในปีนั้น มิลาโน ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เธอติด แฮชแท็ก #MeToo ว่า “การล่วงละเมิดทางเพศและใช้อำนาจในทางที่เสื่อมเสีย ไม่ได้มีแค่วงการฮอลลีวูดเท่านั้น และก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักแสดงหญิงเท่านั้น เพราะในทุกอาชีพผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย เพราะเราอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมที่พิกลพิการ และผู้ชายที่ชอบกดขี่ผู้หญิงแบบ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ก็มีอยู่ทุกที่”
จากแฮชแท็กในโลกออนไลน์ ขยายเป็นการเดินขบวนเรียกร้อง "สิทธิสตรี" ในหลายมุมทั่วโลก จนกลายเป็นปรากฏการณ์แสดงพลังของผู้หญิงทั่วโลกในปี 2017 ซึ่งพลังของมันทำให้คนดังจากหลากหลายวงการได้รับผลกระทบ โดยแค่ในสหรัฐอเมริกามีคนมีชื่อเสียงเกือบ 150 คนได้ที่ถูกเปิดโปงว่าเคยล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนในอินเดียก็เกิดกระแสผู้หญิงออกมาประกาศในที่สาธารณะถึงประสบการณ์ถูกล่วงละเมิด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในประเทศนี้ และในทวีปเอเชียที่ขึ้นชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ก็มีคนดังได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่าง "แอน ฮี จุง (Ahn Aee Jung)" ผู้ว่าราชการจังหวัดชุงชองใต้ หนึ่งในตัวเต็งที่อาจจะเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็ถึงขั้นประกาศลาออก เพราะถูกเปิดโปงว่าข่มขืนเลขาตัวเอง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น เพราะสุดท้ายสิ่งที่มีขึ้นสุดก็ต้องมีช่วงเวลาขาลง เพราะถึงแม้การออกมาเรียกร้องสิทธิ สตรีจะเป็นเรื่องดี แต่เพราะมีผู้ชายหลายคนถูกแบน หมดอนาคต กลายเป็นคนว่างงาน ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเขากระทำผิดจริงๆ ส่งผลให้แคมเปญนี้ยังต้องมีการถกเถียงกันอีกมากถึงผลกระทบที่ตามมา แต่อย่างไรก็ตาม แฮชแท็ก #MeToo ก็ยังคงถูกใช้ ในอีเว้นท์สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีอยู่เรื่อยๆ
ในส่วนของประเทศไทย แน่นอนว่ามีผู้หญิงในทุกสาขาอาชีพก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน โดยเกิดเป็นคดีรายวันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของข้อมูลปี 2022 พบว่า หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ-กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คน และต้องเข้ารับการบำบัดรักษากับแจ้งความร้องทุกข์ 30,000 คนต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงติดอันดับโลก
ส่วนในแวดวงการเมืองที่เป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนี้ คือ สส.พรรคก้าวไกลสองคนได้แก่วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี และ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม ที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ
ทว่ามีแค่วุฒิพงศ์เท่านั้นที่ถูกขับออกจากพรรค ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนมีหลักฐานชี้ว่ามีการพูดคุยเชิงลามกอนาจาร และจบที่การชวนขอเพศสัมพันธ์กับเหยื่อเหมือนกัน แต่ไชยามพวานกลับได้อยู่ต่อ ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่านี่เป็นเรื่องของการเมืองหรือเปล่า และอาจต้องรอดูกันต่อไปว่าสังคมจะตามดูประเด็นนี้จ่อแค่ไหน และอาจไม่แน่ว่าถ้าประเทศเรายังปล่อยให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกบ ในอนาคตเราก็อาจเห็นแคมเปญ #MeToo เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก CONSENT เช็คก่อนว่าอย่างไหนคือ "ยินยอม" หรือ "คุกคามทางเพศ"
เปิดจดหมาย เหยื่อ สส.ปูอัด ขอความเป็นธรรมจากพรรคก้าวไกล
ดราม่า ก้าวไกลคุกคามทางเพศ สส.หญิงแห่ขึ้นปกดำ ปิยบุตร ชี้เสียความเชื่อมั่น