รู้หรือไม่ ? หลายๆประเทศ ให้สิทธิลางาน ระหว่างมีประจำเดือน หรือสตรีที่ปวดท้องประจำเดือน โดยการมีสิทธิแรงงานลางานเนื่องจากความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงานให้มีมากขึ้น ในโลก ณ ปัจจุบัน
กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจในฉับพลัน เมื่อ ม.ธรรมศาสตร์อนุมัติ นักศึกษาที่มีประจำเดือน ลาหยุดเรียนได้ โดย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 เพจ Facebook องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความว่า “มธ. คำนึงสิทธิของทุกคน อนุมัติให้มีการลาหยุดสำหรับนักศึกษาที่เป็นประจำเดือนโดยไม่กระทบกับการจัดการเรียนการสอน”
นี่เป็นการ ส่งสัญญาณในการเห็นอกเห็นใจ จากองค์กรการศึกษา ที่มี ต่อเพศหญิงทุกคน ที่จะต้องเจอกับ อาการ "ปวดประจำเดือน" และ นี่คือการแสดงออกถึงความเห็นใจ ในความทุกข์ทรมานของสตรีที่เกือบทุกคน จะต้องเคยมีประสบการณ์ การปวดท้องเมนส์ซึ่งยากจะบรรยายให้ออกมาเป็นตัวอักษรได้ (คนไม่เคยเจ็บ ไม่มีทางรับรู้ว่าเจ็บนี้มันเป็นอย่างไร...)
แต่รู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ในภาพกว้างของบริบทสังคม หลายๆ ประเทศมีกฎหมาย รองรับให้ ผู้หญิงสามารถ "ลางาน" ได้ ถ้าหากเกิดอาการปวดท้องระหว่างมีรอบเดือนขึ้นมา หลายๆประเทศ ไม่อยากให้ผู้หญิงต้องทนทุกข์ แบกร่างอันเจ็บปวด มาทำงาน เพราะ ความเจ็บ ความทรมานของเจ็บรวดร้าวของแต่ละคน มันไม่เท่ากัน และวัดเป็นมาตราใดๆ ไม่ได้
แม้ตอนนี้ ทั่วโลก ยังไม่ได้มองว่า การลางาน เพราะปวดประจำเดือน นั้นสำคัญแบบเท่ากันหมดในทุกๆประเทศ จนถึงขั้นออกกฎหมายให้ลางานได้, แต่ ณ เข็มนาฬิกาเดินอยู่ตอนนี้ ก็มีประเทศอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ออกกฎอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถลาหยุดระหว่างมีประจำเดือนได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ รวมไปถึงแซมเบีย ในแอฟริกา ซึ่งแต่ละประเทศ จำนวนวันลา ก็จะแตกต่างกันไป , โดยกฎหมายฉบับแรกที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถลาหยุดระหว่างมีประจำเดือนได้เกิดขึ้นในสมัยสหภาพโซเวียต ในปี 1922
ทั้งนี้ หากจะขอลองยกตัวอย่าง ประเทศ ญี่ปุ่น ประเทศที่เจริญแล้ว ทางฝั่งโลกตะวันออก ให้เห็นภาพชัดๆ, ญี่ปุ่น มี กฎหมายลางานเพราะปวดประจำเดือน ตั้งแต่ปี 1947 ในฐานะสิทธิแรงงาน หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และประสบปัญหาการสูญเสียประชากรจำนวนมาก ญี่ปุ่นมีกฎหมายที่อนุญาตให้แรงงานหญิงลางานเพราะความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนได้ เรียกว่า ‘Seirikyuuka-Physiological Leave’
แรงงาน จะต้องขอลางานกับนายจ้างโดยตรง หากแต่การพูดถึงประจำเดือนยังเป็นเรื่องต้องห้าม ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องส่วนตัวของวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอยู่ ในที่นี้ อาจรวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ไม่กล้าพูด เรื่องนี้อย่างตรงๆ อีกทั้งนายจ้างผู้จัดการส่วนใหญ่ก็ดันเป็นผู้ชาย แรงงานหญิงจึงไม่ต้องการที่จะบอกกับหัวหน้าของเธอโดยตรง และมีหลายคนไม่รู้ถึงนโยบายนี้ เพราะไม่มีการให้ข้อมูล และไม่มีข้อกำหนดให้บริษัทหรือนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงที่แรงงานหยุด จากการสำรวจในปี 2017 จึงพบว่ามีเพียง 0.9% เท่านั้นที่ขอลาเพราะปวดประจำเดือน
ทั้งนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการ ลางานได้ ระหว่างที่ต้อง ปวดรอบเดือน ให้เหตุผลว่า สิทธิเหล่านี้ มีความสำคัญเทียบเท่ากับสิทธิลาคลอดบุตร เพราะถือเป็นการแสดงการตระหนักรู้ต่อระบบทางชีววิทยาเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่ากฎหมายลางานเพราะปวดประจำเดือน จะส่งเสริมให้เกิดภาพจำในทางลบ ทั้งยังกระตุ้นให้นายจ้างต่างๆ ไม่เลือกลูกจ้างเพศหญิง , หรือ โอกาสที่จะจ้าง เพศหญิง เข้ามาทำงาน ก็มีน้อยลง
ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีประจำเดือนเคยมีอาการปวดประจำเดือน แต่บางคนมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด
อาการปวดประจำเดือนจะมีทั้งการปวดช่องท้อง ซึ่งสามารถลุกลามไปยังหลังและต้นขา ทั้งยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย และปวดหัวไมเกรน ตามมาได้
มีหลายสาเหตุที่นำไปสู่การอวดประจำเดือน อาทิ ความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนโปรสตาแกลนดินส์ ซึ่งฮอร์โมนโปรสตาแกลนดินส์ สร้างขึ้นจากเซลล์ในมดลูก ฮอร์โมนดังกล่าวช่วยให้มดลูกบีบตัว ทั้งนี้ หากร่างกายมีฮอร์โมนโปรสตาแกลนดินส์จำนวนมาก จะส่งให้มดลูกบีบตัวมาก และจะปวดมากขึ้น
มีงานวิจัยพบว่าอาการปวดประจำเดือนพบได้ทั่วไป สำหรับเพศหญิงทุกคน และยังมีความรุนแรงมากพอที่จะส่งผลกระทบกับกิจวัตรประจำวันของผู้หญิงมากถึง 20%
ทุกวันนี้ บริบทสังคมทั่วโลก มีวิวัฒนาการ สถานภาพ สิทธิ และเสรีภาพของผู้หญิงได้รับการยกระดับ และเข้ามาเป็นแรงงานหนึ่งของการผลิตทุนนิยม และอุตสาหกรรม หากแต่โครงสร้างและพื้นที่ทำงานยังไม่ได้รับการพัฒนาตามบริบทสังคมเท่าที่ควร การมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพศหญิงในเรื่องลาปวดประจำเดือน จึงเป็นการพัฒนาโครงสร้างการผลิตที่สอดคล้องกับเพศสภาพ และเพศสรีระที่หลากหลายของแรงงาน
ยิ่งไปกว่านั้น สวัสดิการจำเป็นต้องมีความหลากหลาย และคำนึงทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม การมีสิทธิแรงงานลางานเนื่องจากความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงานให้มีมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง