svasdssvasds

พิชิต ชื่นบาน ชี้ Digital Wallet สุจริตจริง ไม่ได้บิดเบือน รธน. แน่นอน

พิชิต ชื่นบาน ชี้ Digital Wallet สุจริตจริง ไม่ได้บิดเบือน รธน. แน่นอน

พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกฯ ชี้ แจกเงินดิจิตอล 10,000 สุจริต และไม่ได้ใช้บิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด พร้อมบอกว่า “ปัญหามีไว้ให้แก้ แต่ผู้นำที่ดีย่อมแก้ก่อนมีปัญหา”

พิชิต ชื่นบาน เผยว่า ในอดีตที่ผ่านมามีการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินทั้งในรูปแบบพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และคณะปฏิวัติ มากกว่า 30 ฉบับ โดยกฎหมายเฉพาะที่ตราขึ้นต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อการกู้เงินที่แตกต่างกันออกไปกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในและภายนอกในขณะเวลาที่ตรากฎหมายนั้น

ต่อมาภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้คำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ว่า “เงินแผ่นดิน” คือ เงินทุกอย่างของรัฐไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค ฯลฯ และการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 กำหนดไว้เท่านั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 จึงได้กำหนดหลักการสำคัญใหม่ให้สามารถจ่ายเงินแผ่นดินได้ตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมาคือ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 20เมษายน พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ พ.ร.บ. วินัยการเงิน ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังและช่วยให้หน่วยงานของรัฐมีการรักษาวินัยการเงินการคลังและดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดหลักการให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ โดยเงินที่กู้กระทรวงการคลังจะเก็บไว้เพื่อจ่ายออกไปตามโครงการเงินกู้ ไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเข้าบัญชีเงินคงคลัง

ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและจ่ายเงินแผ่นดินตาม พ.ร.บ. วินัยการเงิน ฯ ได้  โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 แต่อย่างใด

 

การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตาม พ.ร.บ. วินัยการเงิน ฯ มาตรา 53 นั้น วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า

“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”

วรรคสอง บัญญัติว่า

“กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น”

และวรรคสาม บัญญัติว่า

“เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

จากบทบัญญัติในมาตรา 53 เห็นได้ว่า กรอบและเงื่อนไขในการออกกฎหมายเพื่อการกู้เงินของรัฐบาลมีได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้

ส่วนรูปแบบของกฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 สามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ คือ “รูปแบบของพระราชบัญญัติ” หรือ “รูปแบบของพระราชกำหนด”  หาใช่กระทำได้เฉพาะในรูปแบบของพระราชกำหนดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้อยคำใน พ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 วรรคหนึ่ง กำหนดเพียงว่า 

“มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ”

ซึ่งถ้อยคำนี้มีความแตกต่างกับเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง ที่กำหนดว่า

“เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

 

ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องตามความหมายในพ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 จึงไม่ต้องถึงขนาดที่จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง แต่อย่างใด เพราะหากถึงขนาดที่เป็นกรณีฉุกเฉิน รัฐบาลย่อมสามารถออกกฎหมายเพื่อกู้เงินโดยตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ได้อยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้หากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศที่ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ และโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะส่งผลให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต รัฐบาลย่อมสามารถตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงิน โดยรูปแบบของพระราชบัญญัติได้ตามพ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 และไม่ถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และมาตรา 62 ประการใด

การที่รัฐบาลได้เลือกรูปแบบของกฎหมายเพื่อกู้เงินโดยออกเป็น พระราชบัญญัติ แทนที่จะออกเป็น พระราชกำหนดนั้น รัฐบาลมีเจตนาที่จะให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินนี้ ได้โดยผ่านการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามกลไกของรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ ระยะเวลา และแผนงานหรือโครงการ ฯ อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นกระบวนการตรวจสอบตามครรลองในวิถีทางของประชาธิปไตย และยังเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาที่อาจมีความเห็นในประเด็นต่าง ๆ สามารถส่งเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติกู้เงินว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตและมิได้ใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด เพราะรัฐบาลเห็นว่าโครงการฯ ดังกล่าวมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน

ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังคงเฝ้ารอโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่ เพราะเงินจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มาก ยกตัวอย่างครอบครัว ที่มีพ่อ แม่ และลูก เข้าเงื่อนไขรับเงิน 10,000 บาท  แสดงว่าครอบครัวนี้สามารถมีเงินมาหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ถึง 30,000  บาท ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถคิด วางแผน เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้เพิ่มเติมได้อีกช่องทางหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่นักวิชาการวิจารณ์ว่า โครงการ ฯ ดังกล่าวไม่ตรงปก เพราะเป็นการกู้มาแจก 100% ไม่เหมือนตอนยื่นนโยบายต่อ กกต. ที่บอกจะนำเงินมาจากงบประมาณแผ่นดินนั้น ขออธิบายว่าในประเด็นนี้เมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทย ได้มีการชี้แจง กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2660 มาตรา 57 พรรคเพื่อไทยได้มีการระบุเงื่อนไขว่าอย่างชัดเจนว่า “ที่มาของวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ”

เมื่อวันนี้ รัฐบาลได้หาข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้วเห็นว่าในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องมีการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า  6 แสนล้านบาท โดยจะต้องออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงิน จำนวน 5 แสนล้านบาท และมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 1 แสนล้านบาท จึงเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศตามที่ได้แจ้งต่อ กกต. แล้ว

อยากฝากประเด็นให้คิดว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แม้อาจมีหลายฝ่ายมีข้อกังวลเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ. กู้เงิน ว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การตีความกฎหมายนั้น

ดังสุภาษิตที่ว่า "สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย" จึงเป็นเรื่องสองคนย่อมเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและที่สำคัญประชาชนรอความหวังกับโครงการนี้อยู่

ตนเห็นข่าวยายอายุ 71 ปี ที่กระโดดลงไปในน้ำเพื่อตามธนบัตรใบหนึ่งพันบาทเพียงใบเดียว สุดท้ายตกลงไปในน้ำโดยไม่ห่วงชีวิต จึงอยากสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศที่หากเรามองปัญหามาจากหอคอยงาช้างย่อมไม่อาจเห็นปัญหาที่อยู่จุดข้างล่างได้

ท้ายสุดหากเรื่องนี้ไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้เอง อย่างไรก็ตามเมื่อวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายประการตามมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จึงมีหน้าที่ที่จึงต้องรีบดำเนินการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียก่อน

 

เพราะ ทุกปัญหาย่อมมีไว้ให้แก้ แต่ผู้นำที่ดีย่อมแก้ก่อนมีปัญหา

 

-พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี-

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related