เปิดเหตุผล ทำไม อิสราเอล - อิหร่าน จึงเป็นคู่ขัดแย้งกัน ทั้งที่เคยเป็นมิตร ท่ามกลางไฟสงครามอิสราเอล - กลุ่มฮามาส และ มันจะเข้ารูปเข้ารอยเป็น สงครามลับในสมรภูมิไร้พรมแดน
จากความขัดแย้งในสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส รอบล่าสุดที่ปะทุกันมาตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2023 และจนถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว , สัญญาณต่างๆบ่งชี้ว่า สงครามครั้งนี้ จะ "ยืดเยื้อ" โดย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯรัฐมนตรี และ ผู้นำอิสราเอล ปฏิเสธข้อเรียกร้องของทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ ในการหยุดยิงกับกลุ่มฮามาส
ระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน , แต่มีความเสียหายและสูญเสียจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซามากกว่า 8,000 ราย และ บาดเจ็บอีกมากกว่า 21,000 คน ส่วนในอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย บาดเจ็บอีกมากกว่า 5,400 คน และตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด
โดยอีกหนึ่งตัวละคร ที่หลายๆคนสนใจ คือ ประเทศอิหร่าน แม้จะไม่มีพรมแดนติดกับพื้นที่ขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส แต่ อิหร่าน ณ ท่าที เข็มนาฬิกาเดินปัจจุบัน ก็ถือว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับอิสราเอลอย่างชัดเจน
แต่รู้หรือไม่ ในอดีต อิหร่าน กับ อิสราเอล เคยเป็นมิตรกันมาก่อน ... แต่ ทั้งสองประเทศ ต้องแยกกันเดินคนละทาง เพราะเหตุใด ? ...SPRiNG ชวนหาคำตอบเรื่องนี้
หากย้อนเข็มนาฬิกากลับไปในอดีต ไปมอง ประเทศอิหร่าน , กลับไปในช่วงสมัยของพระเจ้าชาห์ (The Shah) ปกครองประเทศอิหร่านในปี 1941 ในช่วงไทม์ไลน์ใกล้เคียงกันนั้น อิสราเอลประกาศอิสรภาพในปี 1948 ทำให้ชาวยิวจากทั่วโลกเดินทางหลั่งไหลมาที่อิสราเอล ดินแดนแห่งพันธสัญญาตามที่เขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิ้ล และเป็นผลให้ชาติอาหรับหลายประเทศไม่พอใจเอามาก ยกเว้นอิหร่าน ที่ตอนนั้น ท่าทีไม่ได้เป็นศัตรูอะไร โดยอิหร่านมองว่าพวกเขาเป็นชาวเปอร์เซีย ไม่ได้เป็นชาวอาหรับใดๆ ไม่ได้ เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวยิวที่อพยพมา
พระเจ้าชาห์ เข้าข้างอิสราเอลแล้ว เป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้านภูมิภาคชาวอาหรับด้วยกันเอง เพราะมองว่าอิสราเอลเป็นศัตรูกับซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศคู่อริของอิหร่านเช่นกัน กล่าวคือศัตรูของศัตรู ก็คือมิตร จึงมองว่าสามารถใช้ประโยชน์จากการที่สนับสนุนอิสราเอลได้ (Your enemy of your enemy is your friend)
ก่อนปี 1950 อิสราเอลและอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ยังไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามหกวัน (Six Day War) เมื่อ 5-10 มิถุนายน 1967 ของอิสราเอลและชาติอาหรับรอบๆ (อียิปต์, จอร์แดน, ซีเรีย) จบลงในปี 1967 อิสราเอลชนะและได้เข้ายึดหลายพื้นที่บางส่วนไว้เช่น แหลมไซนายในอียิปต์ , อิหร่านมีความชื่นชม และเห็นว่ากองกำลังทหารอิสราเอลมีศักยภาพสูงมาก คุณภาพสูงมาก ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงพัฒนาอย่างเร็วถึงขนาดที่พระเจ้าชาห์ลงทุนกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์เพื่อซื้ออาวุธจากอิสราเอล เพราะต้องการให้กองทัพของอิหร่านนั้นแข็งแกร่งที่สุดในตะวันออกกลาง
ในยุคสมัยของพระเจ้าชาห์ ปกครองอิหร่านนั้นมีชาวอิสราเอลมากกว่าหนึ่งแสนคนอาศัยอยู่ในเมืองเตหะราน (Tehran) มีโรงเรียนเด็กชาวยิว จนทำให้ชาวอิสราเอลรู้สึกว่าเตหะรานคือบ้านหลังที่สองของพวกเขาเลยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน มาแตกหัก เดินคนละทางกัน ในช่วงปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ,โดย ในปี 1979 อิหร่าน นั้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ที่โค่นล้มพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี เปลี่ยนระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ , อยาตอลเลาะห์ โคไมนี เป็น ศัตรูกับ สหรัฐฯ และมองว่า อิสราเอล เป็นมิตรกับสหรัฐฯ ด้วย
ผู้นำสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพและกองกำลังความมั่นคง ตอนนั้น อยาตอลเลาะห์ โคไมนี เป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าคณะตุลาการ, ครึ่งหนึ่งของสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) อันทรงอำนาจ, ผู้นำคนต่าง ๆ ในการละหมาดในวันศุกร์ รวมถึงผู้อำนวยการเครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุของรัฐต่าง ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ ในอิหร่าน องค์กรการกุศลที่มีทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของเขายังมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
หลังจาก อยาตอลเลาะห์ โคไมนี เสียชีวิตในปี 1989 อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ก็ได้ขึ้นครองตำแหน่งเป็นคนที่สอง และยังควบคุมอำนาจและจัดการกับภัยต่อความมั่นคงของชนชั้นปกครองนี้ได้อย่างเด็ดขาด
นับจากจุดนั้น ในช่วงที่อิหร่านปฏิวัติอิสลาม , อิหร่านได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล และเปลี่ยนสถานทูตอิสราเอล เป็นองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization หรือ PLO)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุค 80s , เหมือนว่า อิสราเอล กับ อิหร่าน จะมีความสัมพันธ์ดีขึ้น เพราะช่วงนั้น ทั้งสองประเทศ มีศัตรูร่วมกันคืออิรัก โดยในช่วงของสงครามอิหร่าน-อิรัก , อิหร่านได้กลับมาซื้ออาวุธจากอิสราเอลเป็นจำนวนเงินกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้มีการกลับมาขายน้ำมันให้กับอิสราเอล แต่ถึงกระนั้น หลังจากที่สงครามกับอิรักจบลง อิหร่านก็กลับมามุ่งหน้าเพื่อทำลายอิสราเอลต่อทันที
เป็นช่วงเวลาที่เนิ่นนาน ปีที่อิหร่านและอิสราเอลมีปัญหาความขัดแย้งกันแต่ไม่ได้โจมตีโดยตรงใส่กันเอง หรือที่เรียกว่าสงครามตัวแทน (Proxy Conflict) คือจะมีผู้เล่นอื่นๆเข้ามาเป็นหมากในการโจมตีกัน
โดยอิหร่านจะโจมตีอิสราเอลด้วยการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอย่าง เฮซบอลเลาะห์ Hezbollah ในประเทศเลบานอน ซึ่งมีชายแดนติดกับอิสราเอลทางตอนเหนือ , กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา , หรือ กลุ่มจิฮาดในปาเลสไตน์ (Islamic Jihad)
ส่วนทางฝั่งของอิสราเอลก็ทำทุกวิธีเพื่อที่จะยับยั้งการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน การโจมตีทางอากาศเพื่อทำลายการขนส่งอาวุธสงครามของเฮซบอลเลาะห์ ไปยังกรุงดามัสกัสในซีเรีย, การลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่านเริ่มตั้งแต่ปี 2010 (แต่อิสราเอลไม่เคยออกมายืนยันหรือปฏิเสธกับเรื่องนี้)
และ อิสราเอลมีส่วนร่วมในการสังหารนายพลโซเลย์มอนีผู้นำอิหร่าน (Qasem Soleimani) ผ่านการโจมตีทางอากาศที่สนามบินในกรุงแบกแดดของอิรักซึ่งออกคำสั่งโดยโดนัลด์ ทรัมป์
ปัจจุบันอิสราเอลได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาติอาหรับหลายชาติเช่น สหรัฐอาหรับอิมิเรต, บาห์เรน และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งการที่ชาติอาหรับและอิสราเอลคิดที่จะเป็นพันธมิตรกันนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อย้อนกลับไปในสมัยที่อิสราเอลประกาศอิสรภาพในช่วงยุค 40s
ที่มา bbc american.edu jpost