svasdssvasds

เมื่อการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ไม่เหมือนชาติใดในโลก

เมื่อการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ไม่เหมือนชาติใดในโลก

การเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ถ้าเป้าหมายการหารายได้เข้าประเทศก็อาจจะตอบโจทย์ แต่ถ้าเพื่อลดการบริโภคแอลกอฮอล์ ก็อาจจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

“ลดอัตราการดื่ม” หรือ “ลดนักดื่มหน้าใหม่” มักกลายเป็น 2 ใจความสำคัญที่แสนท้าทายทุกครั้ง เมื่อมีวาระเกี่ยวกับเครื่องดื่มกับนักดื่มไทยถูกหยิบขึ้นมาพูดถึง 

เมื่อประเทศไทยถูกจัดอยู่ในทำเนียบนักดื่มลำดับที่ 41 ของโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก 

แน่นอนว่า เมื่อเทียบอัตราส่วนการดื่มเฉลี่ย 20.3 ลิตรต่อคนต่อปี หรือ 43.9 กรัมต่อคนต่อวันของนักดื่มชาวไทย มาจากการดื่มสุรา หรือ เหล้า เป็นหลัก ก่อนจะเป็นเบียร์ และไวน์

ตัวเลขชุดนี้ ทำให้ การขึ้นภาษีสุรา จึงกลายมาเป็นกุญแจดอกล่าสุดที่ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อหวังไขประตูเปิดทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว 

ถ้าเป้าหมายการหารายได้เข้าประเทศก็อาจจะตอบโจทย์ แต่ถ้าเพื่อลดการบริโภคแอลกอฮอล์ ก็อาจจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เมื่อการกำหนดประเภทของเครื่องดื่ม ไม่ได้เท่ากับ ปริมาณแอลกอฮอลล์ที่ถูกผสมลงไปในนั้น และในก้นขวด (หรือแก้ว) เครื่อมดื่มนั้น มีอะไรซุกอยู่อีกหลายชั้น

 หากดูรายละเอียดจากงานวิจัยเรื่อง ภาระภาษี และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษีสุราของรัฐบาล โดย ผศ. ดร. เกสินี หมื่นไธสง เพื่อศึกษาผลกระทบอันเนื่องมาตรการขึ้นภาษีสุรา ทำให้ลดปริมาณการดื่มได้จริงหรือไม่นั้น ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีผล กลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ยังคงพร้อมจ่ายเพราะมองว่าเป็นของจำเป็นสำหรับชีวิต 

สอดคล้องกับตัวเลขการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์ในปี 2565 (สิ้นสุดปีงบประมาณที่ 31 ต.ค. 2565) เมื่อเทียบกับปี 2564 จะเห็นว่า ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงสุดคิดเป็นอันดับที่ 3 รองจากน้ำมัน และรถยนต์ มีมูลค่า 6,067.74 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 1,108.19 ล้านบาท 

ส่วนภาษีสุราที่เป็นอันดับ 4 จัดเก็บได้ 5,721.47 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 1,027.37 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นราว 20%

เท่ากับว่า แม้จะได้เงินมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักดื่มมีจำนวนลดลง ที่แปลกก็คือ ถ้าปริมาณการดื่มของคนไทย ประกอบด้วยเหล้าสูงสุด รองมาคือ เบียร์ และไวน์ ทำไมภาษีที่จัดเก็บจากเบียร์จึงมีมูลค่าสูงสุด  

การจัดเก็บภาษีที่ลักลั่นในกลุ่มเครื่องดื่มก็กลายเป็นอีกปัญหาที่ถูกซ่อนเอาไว้ก้นขวดอย่างมิดชิดจนแทบไม่มีใครสังเกต 

บนกระดานภาษีแผ่นเดียวกัน เบียร์ ที่มีแอลกอฮอลล์ราว 4-7% จะเสียภาษีสูงที่สุด 22% ขณะที่ RTD และไวน์คูลเลอร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ราว 4-10% แต่เก็บภาษีที่ 10% ในส่วนที่วิสกี้มีปริมาณแอลกฮอลล์อยู่ราว 35-40% ถูกเก็บภาษีอยู่ 20% 

ขณะที่ เหล้าขาวที่มีดีกรีแอลกอฮอลล์สูงถึง 28-40% แต่เพราะความเป็นเหล้าพื้นถิ่นที่ฝังรากอยู่กับวิถีชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนาน ทำให้ถูกเก็บภาษีแบบตีตั๋วเด็ก 2% เท่านั้น 

สิ่งที่กลายเป็นตลกร้ายที่กับเรื่องดังกล่าวก็เห็นจะเป็นกลุ่ม เครื่องดื่มซอท์ฟดริ๊งส์ ที่ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์นั้น นอกจากจะโดนภาษี 14% แล้ว ยังบวกภาษีความหวานเพิ่มด้วย ทำให้เสียภาษีสรรพสามิตสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางจำพวกเสียอีก 

เม็ดเงินจากภาษีสรรพสามิตที่ได้มานั้นกลายเป็นคำถามต่อ สำหรับ ธนากร ท้วมเสงี่ยม ในฐานะตัวแทนประชาชนเบียร์ว่า การเก็บภาษีสุราของประเทศไทยนั้นไม่มีความชัดเจน ว่าเก็บแล้วนำไปทำอะไรบ้าง ใครได้ประโยชน์

“ในบางประเทศที่เมื่อเก็บภาษีแล้วกระจายรายได้ไปให้กับชุมชนทำให้ผลประโยชน์ตกไปถึงประชาชนโดยตรงด้วยการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น แต่ในประเทศไทยเป็นการเก็บเข้าส่วนกลางกว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้นต้องผ่านหลายกระบวนการแต่อาจทำให้ไม่สามารถใช้เงินจากภาษีเหล่านั้นได้อย่างคุ้มค่า” 

ส่วนในเกมการแข่งขันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์นั้น เกม “แฟร์เพลย์” ดีกรียิ่งมาก ภาษียิ่งแพง ในความรู้สึกของธนากรอาจจะไม่แฟร์เท่ากับการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนทำสุราพื้นบ้านหน้าใหม่ๆ เข้ามาช่วยเป็นอีกแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม่ใช่ ผูกขาด อยู่กลับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม 

ต้องไม่ลืมว่า คราฟต์เบียร์ และสุรากลั่นพื้นบ้าน ล้วนเป็นผลผลิตของผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนผู้ผลิตเหล้าขาว และ RTD นั้นเป็นรายใหญ่เกือบทั้งหมด

ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังพยายามผลักดันเบียร์และสุราไทยให้ไปไกลสู่ระดับสากลอาจต้องติดกับกำแพงภาษีที่อาจทำให้ไม่ไปถึงฝั่งฝัน

ทั้งโอกาส และความลักลั่นที่ซุกอยู่ก้นแก้วเหล่านี้ ล้วนเป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้ง คนกิน คนทำ คนกำกับ ทั้งสิ้น 

related