svasdssvasds

ศึกเพลงยายแล่ม ลิขสิทธิ์ของใครกันแน่ เลิศ คันไถVSท็อปไลน์

ศึกเพลงยายแล่ม ลิขสิทธิ์ของใครกันแน่ เลิศ คันไถVSท็อปไลน์

เพลงยายแล่ม ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงกันแน่ หลังครูเพลงที่ดูแลลิขสิทธิ์ค่ายท็อปไลน์ไดมอนด์ อ.สัญลักษณ์ ดอนศรี และ นักร้องรุ่นใหญ่ น้าหมู วงคันไถ ผู้แต่งและเรียบเรียง เพลงยายแล่ม ออกมาแจ้งว่า เขาคือเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง

SHORT CUT

  • เกิดข้อถกเถียงว่าใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ เพลง "ยายแล่ม" กันแน่ ระหว่าง หมู คันไถ และ ค่ายเพลงท็อปไลน์ มิวสิค
  • ค่ายท็อปไลน์ยืนยันว่าตนคือเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะค่าย "ไหทองคำ" ที่นำไปร้องจนโด่งดังอีกครั้งก็เสียค่าลิขสิทธิ์ให้ตน
  • ส่วน "หมู คันไถ" ก็ยืนยันว่าตนคือคนแต่งเพลงนี้ และผู้ถือลิขสิทธิ์คือ บริษัท RMS Publishing
  • อย่างไรก็ตาม "ค่ายไหทองคำ" ยืนยันว่าจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงถูกต้อง สามารถใช้ทำการแสดงได้อย่างถูกต้อง

เพลงยายแล่ม ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงกันแน่ หลังครูเพลงที่ดูแลลิขสิทธิ์ค่ายท็อปไลน์ไดมอนด์ อ.สัญลักษณ์ ดอนศรี และ นักร้องรุ่นใหญ่ น้าหมู วงคันไถ ผู้แต่งและเรียบเรียง เพลงยายแล่ม ออกมาแจ้งว่า เขาคือเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง

ถึงคราวสับสนกันยกใหญ่ ว่าใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง “เพลงยายแล่ม” ที่นักร้องลูกทุ่งอินดี้ ลำไย ไหทองคำ นำมาร้องใหม่จนโด่งดัง ไปทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งเพลงนี้เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อปี 2532 โดย วงคันไถ ภายใต้สังกัดมิวสิคไลน์ (ท็อปไลน์ปัจจุบัน) แต่งคำร้อง ทำนอง และเรียบเรียง โดย ทวีทรัพย์ จีบสุวรรณ หรือ นักร้องรุ่นใหญ่ น้าหมู คันไถ

 

ซึ่งหลังเกิดการถกเถียงว่าเพลงดังกล่าว ลิขสิทธิ์ อยู่ที่ใคร ระหว่างค่ายต้นสังกัด และคนแต่งเพลงโดยครูเพลงที่ดูแลลิขสิทธิ์ของค่ายท็อปไลน์ไดมอนด์ อ.สัญลักษณ์ ดอนศรี ได้ออกมาแจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากศิลปินคนไหนจะนำเพลงนี้ไปร้อง ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้กับค่ายท็อปไลน์ ไดมอนด์ ซึ่งค่ายไหทองคำ ก็ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ผ่านทางค่าย ดังนั้นไม่ว่าจะนำเพลงดังกล่าว ไปร้องตามงาน ตามผับ หรือรถแห่ จะต้องติดต่อผ่าน ค่ายท็อปไลน์ไดมอนด์ เพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์

แต่ในขณะเดียวกัน นักร้องรุ่นใหญ่ น้าหมู วงคันไถ ผู้แต่งและเรียบเรียง เพลงยายแล่ม ได้ออกมาโต้ อ.สัญลักษณ์ ดอนศรี ว่า สิ่งที่ออกมาพูดไม่ถูกต้อง และจะสร้างความเข้าใจผิด เพราะลิขสิทธ์เพลงนี้ ถ้าใครจะเอาไปร้องต้องมาติดต่อตน หรือ  RMS Studio ที่เป็นตัวแทนในการเก็บลิขสิทธิ์ เนื่องจากตนเป็นผู้แต่งเพลงดังกล่าว



แต่เรื่องดูเหมือนจะไม่จบง่ายๆ เพราะต่างฝ่ายต่างงัดหลักฐานว่า ตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง โดย อ.สัญลักษณ์ ดอนศรี ระบุว่า เพลงยายแล่ม ออกครั้งแรก ปี พ.ศ. 2532 วงคันไถ สังกัดมิวสิคไลน์ (ท็อปไลน์ปัจจุบัน) วงร็อคแสลง ร้องใหม่ เขาได้เป็นโปรดิวเซอร์ เพลงยายแล่ม สาวบ้านเชียง สาวโรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2550 ก็ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์จากหมู คันไถ หรือ RMS เพราะเป็นลิขสิทธ์ท็อปไลน์ มีสัญญาขายขาด อยู่ที่ฝ่ายกฎหมายบริษัท และทางค่ายยังเตรียมทำเพลงยายแล่มเวอร์ชั่นล่าสุด โดย แต้ว ประถมบันเทิงศิลป์ ก็ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์จากหมูหรือ RMS เพราะนายห้างทวีชัย ท็อปไลน์" คือ เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง โดยเตรียมปล่อยเพลง ในวันที่ 15 ส.ค.นี้

ด้าน จำรักษ์ เอื้ออารีนุสรณ์ เจ้าของบริษัท RMS Publishing และน้าหมู คันไถ ก็ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ยืนยันว่าเพลงดังกล่าวฝั่งตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

 

ส่วนทางค่ายไหทองคำ ประจักษ์ชัย ไหทองคำ ผู้นำเพลงดังกล่าวมาให้ ลำไย ร้องจนโด่งดัง ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ค ว่าทางค่ายได้มีการติดต่อทุกๆฝ่าย ในการขออนุญาต และนำไปร้องงานต่างๆอย่างถูกต้อง ถูกลิขสิทธิ์

 

เรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในความสับสน ว่าใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ ในวงการเพลง โดยเฉพาะเพลงเก่าในอดีต ที่ไม่ได้มีสัญญาชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ระหว่างค่ายเพลง และนักแต่งเพลง

 

ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม เพลงหนึ่งเพลง มีงานอันมีลิขสิทธิ์ 2 งาน คือ

1. งานดนตรีกรรม ( ทำนอง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคำร้อง )

2. งานสิ่งบันทึกเสียง ( วัสดุที่เสียงถูกบันทึกลงไปไม่ว่าในรูปแบบใดๆ ที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้อีก ) โดยส่วนใหญ่ค่ายเพลงจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง ส่วนลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมนั้นแล้วแต่สัญญาระหว่างผู้ประพันธ์กับค่ายเพลงว่าตกลงกันให้ใครเป็นผู้ถือสิทธิหรือถือสิทธิร่วมกัน แต่ทางบริษัทฯ แนะนำให้ผู้ประพันธ์ยังคงถือสิทธิในงานดนตรีกรรมไว้ทั้งหมด

 

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ลิขสิทธิ์จะให้สิทธิ์แก่เจ้าของแต่เพียงผู้เดียว โดยมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวกับงานเพลงที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ดังนี้

  • ทำเพลงซ้ำหรือดัดแปลง 
  • อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเพลงได้
  • ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ผู้อื่น
  • นำมาสตรีมหรือเผยแพร่เพลงต่อสาธารณะ
  • ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานเพลงให้บุคคลอื่น

 

ซึ่งจากกฎหมายลิขสิทธิ์ ต้องไปดูในสัญญาระหว่างผู้ประพันธ์กับค่ายเพลงว่า เริ่มต้นได้ตกลงกันไว้อย่างไร ดังนั้น ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ “ยายแล่ม” ตัวจริง คงต้องติดตามกันต่อไป

related