svasdssvasds

ก้าวไกลต้องเดินเกมอย่างไร ยังได้เป็น ผู้นำฝ่ายค้านและไม่เสียรองประธานสภา

ก้าวไกลต้องเดินเกมอย่างไร ยังได้เป็น ผู้นำฝ่ายค้านและไม่เสียรองประธานสภา

ทันทีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนว่า ก้าวไกล พรรคที่ได้ สส. 151 เสียงในการเลือกตั้ง 2566 กำลังจะเดินเกม "จอง" ตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" ไม่ให้หลุดลอยไปไหน และพยายามแก้ล็อกต่างๆ ไปทีละเปลาะ

คำถามสำคัญคือ ฉากทัศน์ ของก้าวไกล จะเป็นอย่างไรต่อไป และ อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ? 

สำหรับ "พรรคก้าวไกล" จะรักษาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านเอาไว้ เพราะพรรคของตัวเองนั้น มีคุณสมบัติดีที่สุด สำหรับตำแหน่งนี้ กล่าวคือ เป็นพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มีจำนวน สส.มากที่สุด เพราะมีถึง 151 สส. แต่ด้วยเงื่อนไข "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ เพราะโดนศาล รัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่จาก "คดีหุ้นไอทีวี"

นอกจากนี้  "คดีหุ้นไอทีวี" ที่เกี่ยวพันโดยตรงกับทิมพิธา ก็ส่อเค้ายืดเยื้อ ไม่จบง่ายๆ  เพราะ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ซึ่ง ณ เวลานี้ กลายเป็นอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลไปแล้วนั้น ได้ขอขยายเวลาส่งคำชี้แจงให้ศาลออกไปอีก 30 วัน เป็นการขอขยายเวลาครั้งที่ 2 หลังจากนั้นยังมีขั้นตอนเปิดศาลสืบพยานอีก คดีอาจยื้อถึงปีหน้ากว่าจะตัดสิน

ก้าวไกลต้องเดินเกมอย่างไร ยังได้เป็น ผู้นำฝ่ายค้านและไม่เสียรองประธานสภา

การที่ "ทิม พิธา" จึงยอมสละเก้าอี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ครั้งนี้ มีจุดประสงค์ ชัดเจน เพื่อเปิดทางให้มีหัวหน้าพรรคใหม่ มารอรับ "ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน" เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน จะหลุดลอยไปอยู่ในมือ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นลำดับถัดไปแทน

หากใครที่ไม่ได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดนั้น...ตรงจุดนี้ ขออธิบายเพิ่มเติมไว้สักหหน่อย ถึง ประเด็น คุณสมบัติผู้นำฝ่ายค้าน

ผู้นำฝ่ายค้าน ต้องเป็นใคร ? 

รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160 ระบุ การกำหนดให้มี "ผู้นำฝ่ายค้าน"

ปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" หรือที่เรียกกันติดปากสั้นๆ ว่า "ผู้นำฝ่ายค้าน" นั้น  ต้องมีคุณสมบัติ 

  • ต้องเป็น สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาที่มีจำนวน สส.มากที่สุด
  • สส.ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรวมนายกฯ ประธานสภา หรือรองประธานสภา
  • หรือกรณีที่เป็นพรรคมีสมาชิกเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก

นี่คือคุณสมบัติ ของผู้นำฝ่ายค้าน ตามกรอบที่กำหนดไว้

จะเห็นได้ว่า คุณสมบัติ "ผู้นำฝ่ายค้าน" ไม่ได้มีคุณสมบัติข้อเดียว  เพราะยังมีประเด็นอีกว่า พรรคต้องไม่มีสมาชิกเป็นประธานสภาและรองประธานสภาด้วย  ซึ่ง ก้าวไกล  มี "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็น รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 อยู่ด้วย

ก้าวไกลต้องเดินเกมอย่างไร ยังได้เป็น ผู้นำฝ่ายค้านและไม่เสียรองประธานสภา
 

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ ก้าวไกล จะปลดล็อกเงื่อนนี้ ซึ่งเป็นเงื่อนปมที่ 2 ด้วย  วิธีขับ "หมออ๋อง" ออกจากพรรคก้าวไกล ไปก่อน และ ไปฝากลูกไว้กับ "พรรคเป็นธรรม" พรรคพันธมิตรในฝ่ายค้านไปก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลาออกจาก"รองประธานสภา"

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล จำเป็นจะต้องขับนายปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อให้นายปดิพัทธ์ มีเวลา 30 วัน ในการหาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งก็จะช่วยให้พรรคก้าวไกล เข้าเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรด้วย คือ เป็นพรรคการเมือง ที่ไม่มี สส.ของพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธาน หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 

เมื่อ "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา  สส. พิษณุโลก บนวัย 41 ปี  ถูกขับออกไปแล้ว (เป็นความตั้งใจ)  หัวหน้าใหม่ของก้าวไกล ก็จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้  ขณะเดียวกัน "หัวหน้าพรรคคนใหม่" มีข่าวคาดการณ์ถึง "ชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรค หรือ ศิริกัญญา ตันสกุล หรืออีกหนึ่งตัวเลือกก็คือ ณัฐวุฒิ บัวประทุม

ขณะเดียวกัน ฝั่ง พรรคเป็นธรรม พรรคร่วมฝ่ายค้าน , ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ยังสงวนท่าที ขอปฏิเสธให้ความเห็นต่อกรณีกระแสข่าว "นายปดิพัทธ์ สันติภาดา" สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เตรียมจะย้ายมาร่วมงานกับพรรคหลังถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล 

ส่วน กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกระแสข่าว พรรคเป็นธรรม จะเป็นหนึ่งในทางเลือกของพรรคก้าวไกล หากมีการขับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก ออกจากพรรคฯ เพื่อรักษาตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 มีได้ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านอีกด้วยว่า เบื้องต้นยังไม่มีการพูดคุยร่วมกันในประเด็นดังกล่าว แต่ยอมรับว่า พรรคเป็นธรรม อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกของนายปดิพัทธ์ หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น

งานนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผู้นำฝ่ายค้าน คนที่ 10 ในประวัติศาสตร์ การเมือง ไทย จะเป็น ของพรรคก้าวไกล อยู่หรือไม่...ซึ่ง คงไม่นานเกินรอ คำเฉลยจะมาถึงในไม่ช้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related