"ผู้นำฝ่ายค้าน" ตำแหน่งนี้ ถือว่ามีความสำคัญ แต่ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย และมี ครม. เศรษฐา 1 แล้ว ก็ยังมีคำถามจากสังคม ว่าใครจะนั่งในตำแหน่งนี้ และดูเหมือนกำลังจะเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ
ณ เวลา ปัจจุบัน ประเด็นตามหา "ผู้นำฝ่ายค้าน" ยังอยู่ในความสนใจ เพราะ "ผู้นำฝ่ายค้าน" ถือเป็นตำแหน่งสำคัญตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ทว่า ภาวะตอนนี้ กลับเกิดสุญญากาศ เมื่อ บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองกำลังติดล็อก ทั้ง"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" จากก้าวไกล หรือจะไหลไปที่ ประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคเล็ก
ผู้นำฝ่ายค้าน ต้องเป็นใคร ?
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160 ระบุ การกำหนดให้มี "ผู้นำฝ่ายค้าน"
ปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" หรือที่เรียกกันติดปากสั้นๆ ว่า "ผู้นำฝ่ายค้าน" นั้น ต้องมีคุณสมบัติ
นี่คือคุณสมบัติ ของผู้นำฝ่ายค้าน ตามกรอบที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้น "พรรคก้าวไกล" ซึ่งมีสมาชิกดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 อย่าง “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พรรคก้าวไกล ซึ่งยังไม่ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภา จึงถือว่าขาดคุณสมบัติ ในการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ตาม "พรรคก้าวไกล" ซึ่งมี สส. มากที่สุด ในการเลือกตั้ง 2566 ไม่จำเป็นต้องสละสิทธิ์ หรือแสดงเจตนาใดๆ เพราะสถานะตอนนี้คือ หัวหน้าพรรคไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
แต่หาก สมมติ พรรคก้าวไกลต้องการให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็เพียงแค่ให้ "หมออ๋อง" ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เท่านั้นก็จะทำให้กลับมามีคุณสมบัติ เป็นผู้นำฝ่ายค้านทันที
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของพรรคก้าวไกลยังไม่จบ เพราะ "หัวหน้าพรรคก้าวไกล คือ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.อยู่ จึงมีประเด็นต้องพิจารณากันต่อว่า "พิธา"สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้หรือไม่ ? หากเป็นไม่ได้ ก็ต้องประชุมพรรคก้าวไกล เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และหัวหน้าพรรคคนนั้นต้องเป็น สส.ด้วย จึงจะเป็น "ผู้นำฝ่ายค้าน" ได้
ขยายมุมจาก พรรคก้าวไกลต่อ สมมติ หาก "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา ไม่ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ ก็เท่ากับหัวหน้าพรรคไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
พรรคที่มีคุณสมบัติ ที่จะได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็จะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคที่มี สส.ในสภามากที่สุด และสส.ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา
แต่ปัญหานี้จะยังไม่จบ และซับซ้อนขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น เพราะหาก"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนใหม่ไม่ได้เป็น สส. ขึ้นมา ดังเช่น บทความจาก Nation เคยเสนอทางเลือก ทฤษฎี สำหรับ การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไว้ อาทิ "นราพัฒน์ แก้วทอง" แคนดิเดตที่ฝ่าย "เสี่ยต่อ เฉลิมชัย" เตรียมเสนอเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ปรากฏว่า"นราพัฒน์" ไม่ได้เป็น สส. หากขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะขาดคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้านเช่นกัน
ดังนั้นแล้ว ฉากทัศน์ ผู้นำฝ่ายค้าน อาจส้มหล่น ต่อไปถึง "พรรคไทยสร้างไทย" ซึ่งมี สส. 6 คน แต่ตอนนี้พรรคไทยสร้างไทย ดูจะยังไม่มีหัวหน้าพรรคเหมือนกัน หลังจาก "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประกาศลาออกไป ต้องรอดูว่าจะตั้งใครเป็นหัวหน้าพรรค ใช่ สส.หรือไม่ ต่อไป
ถ้า พรรคไทยสร้างไทย ไม่แต่งตั้งหัวหน้าพรรคอีก ตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้าน อาจหล่น ไปถึง "พรรคเป็นธรรม" ซึ่งเป็นพรรค 1 เสียง และมี "กัณวีร์ สืบแสง" เป็น สส.เพียงหนึ่งเดียวของพรรค แต่ "กัณวีร์ สืบแสง" ก็ไม่ใช่หัวหน้าพรรคเป็นธรรมอีก เป็นเลขาธิการพรรค ฉะนั้นหากจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องไปปรับโครงสร้างพรรค ให้"กัณวีร์"เป็นหัวหน้าพรรคแทน "ปิติพงศ์ เต็มเจริญ" หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่ไม่ได้เป็น สส.
หากหัวหน้าพรรค 1 เสียงมีหลายพรรค และแย่งกันเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ต้องใช้วิธีจับสลาก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 วรรค 2
นี่ถือเป็น ความชุลมุนวุ่นวาย สับสนในสับสน อย่างไม่น่าเชื่อ ของตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หลังการเลือกตั้ง 2566
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า การร่างรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข้อถกเถียงว่า ควรจะมีตำแหน่งที่ว่างตำแหน่งรองประธานสภา 1 ที่นั่ง ให้กับฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย และอาจมีบางช่วงเวลาที่รองประธานของฝ่ายค้านควรจะทำหน้าที่ได้ แต่แนวคิดนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในทางกลับกันรัฐธรรมนูญเขียนว่า ฝ่ายค้านห้ามนั่งในตำแหน่งเหล่านี้ เท่ากับเป็นการปิดกั้นกลไกการรับฟังความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยเลยจึงทำให้เป็นปัญหา
ทางออก ก็ต้องดูว่า หากพรรคก้าวไกลไม่สละตำแหน่งรองประธานสภา ก็ต้องไหลไปสู่ประชาธิปัตย์และไทยสร้างไทย ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคปัจจุบันก็ไม่ได้เป็น สส.หรือจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งเป็น สส.ในสภา จึงต้องดูว่าเขาเปลี่ยนหัวหน้าพรรคหรือไม่ หากไม่มีตำแหน่งนี้ก็จะไหลไปที่พรรคเป็นธรรม แม้นายกัณวีร์ สืบแสง จะเป็นหัวหน้าพรรคก็ไม่ได้เป็น สส.
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การเมืองก่อนปี 2540 ไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน แต่หลังจากมีการแตกตัวของพรรคการเมืองจากพรรคพลังประชาชน ไปยังพรรรคภูมิใจไทยต่อมาพรรคพลังประชาชน ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงทำให้มีการเว้นว่างผู้นำฝ่ายค้าน อยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้มีความจำเป็นว่าจะต้องมี