svasdssvasds

ถอยอย่างมีจุดยืน “ก้าวไกล” จะกระโดดได้ไกลกว่าเดิม

ถอยอย่างมีจุดยืน “ก้าวไกล” จะกระโดดได้ไกลกว่าเดิม

ทางเลือกของ “ก้าวไกล” ในการถอย หลังพ่ายศึกโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก โดยทางเลือกที่ 1 ถอยในเรื่องนโยบายแก้ ม.112 ที่อาจทำให้ “พิธา” ได้เป็นนายกฯ หรือทางเลือกที่ 2 ยึดมั่นในจุดยืน ก็จะเท่ากับทำให้ “พิธา” ถอยออกจากการเป็นนายกฯ และ “ก้าวไกล” ถอยห่างจากโอกาสได้เป็นรัฐบาล

ผ่านไปแล้วสำหรับศึกโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 1 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตพรรคก้าวไกล ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง 2 สภาไม่ถึง 376 เสียง โดยได้รับคะแนนเสียงทั้งสิ้น 324 เสียง แบ่งออกเป็นเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. 311 เสียง และเสียง ส.ว. เพียง 13 เสียงเท่านั้น ซึ่ง ส.ว. ส่วนใหญ่มีจำนวนถึง 159 คน ที่งดออกเสียง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการโหวตไม่เห็นด้วย และมีจำนวนกว่า 40 คน ที่ไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

การโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 2 จะแตกต่างจากครั้งแรกหรือไม่ ?

ด้วยคะแนนเสียงจาก ส.ว. ในระดับที่หมดลุ้น ทำให้คาดการณ์ได้เลยว่า ในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 หากยังยึดโมเดลเดิม 8 พรรคร่วม เสนอ “พิธา” เป็นนายกฯ ผลที่ออกมาก็จะไม่แตกต่างจากครั้งแรก

อีกทั้งมีความเสี่ยงสูงที่ฝ่ายร่วมรัฐบาลเดิม อาจพลิกเกมเสนอใครคนใดคนหนึ่งในฟากฝั่งของตัวเอง ชิงตำแหน่ง “นายกฯ” กับ “พิธา” แม้จะมีเพียง 188 เสียง แต่ด้วยคอนเนคชั่น “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” กับ ส.ว.  โอกาสที่จะได้คะแนนเสียงจาก ส.ว. มาบวก จนทะลุ 376 เสียง ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย

แต่ถ้ามาเวย์นี้ ใจเร็วด่วนได้ รีบปิดเกมรวบรัดขั้นตอน ก็อาจทำให้กระแสต่อต้านของสังคมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงคาดว่าน่าจะมีการปล่อยให้มีการโหวตเลือก “พิธา” จนครบ 3 ครั้ง ก่อนสลับให้ “พรรคเพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังได้เสียงสนับสนุน จาก ส.ว. ไม่มากพอ จนมีความจำเป็นต้องดึง “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” บางพรรคเข้ามาร่วม

ถอยอย่างมีจุดยืน “ก้าวไกล” จะกระโดดได้ไกลกว่าเดิม

บทความที่น่าสนใจ

สมมติมีธงที่วางไว้ “ก้าวไกล” ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน

โดยพรรคที่จะได้รับการทาบทาม คาดว่าคือ “พรรคภูมิใจไทย” แต่อาจจะมีเงื่อนไข ห้ามแก้กฎหมาย ม. 112 ซึ่งถ้า “พรรคก้าวไกล” ไม่โอเค “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำฯ ก็อาจจะเชิญ “พรรคพลังประชารัฐ” (พ่วงเสียง ส.ว.) เข้ามาแทน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับบีบให้ “พรรคก้าวไกล” ต้องถอยออกมาเป็นฝ่ายค้าน เพราะเคยให้สัญญากับประชาชนไว้แล้วว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พรรค 2 ลุง” อย่างเด็ดขาด

และเมื่อ “พรรคก้าวไกล” ถอนตัวออกไป พรรคแกนนำฯ ก็อาจต้องไปเชิญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอื่นๆ เข้ามาแทนอีก ไม่ว่าจะเป็น “ภูมิใจไทย” , ประชาธิปัตย์ , พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ เพื่อเติมเสียง ส.ส. ให้เกิน 250 เสียง ส่วนเสียง ส.ว. ก็หายห่วง ได้รับเสียงช่วยเติมจนเกิน  376 เสียงแน่ๆ ถ้ามาทางเวย์นี้    

ถอยอย่างมีจุดยืน “ก้าวไกล” จะกระโดดได้ไกลกว่าเดิม

ถ้าต้องถอย ก้าวไกลจะเลือกถอยอย่างไร ?  

ในสถานการณ์ที่ “พรรคก้าวไกล” กำลังถูกบดขยี้รอบด้าน เหมือนมีมิตรร่วมรบเคียงข้างมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วกำลังโดดเดี่ยวทางการเมืองเป็นยิ่งนัก ซึ่ง “ก้าวไกล” ต้องตัดสินใจว่า ถ้าจำเป็นต้องถอย แล้วจะถอยในเรื่องใด

ในการประชุมสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมถึง ส.ว. หลายคนได้หยิบเรื่องการแก้กฎหมาย ม.112 มาโจมตี “พรรคก้าวไกล” อย่างหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอว่า ถ้า “พรรก้าวไกล” ยอมถอยในเรื่องนี้ ไม่แตะ ไม่แก้กฎหมายดังกล่าว เหล่า ส.ว. ก็อาจจะยอมโหวตให้ “พิธา” ได้เป็นนายกฯ

ดังนั้นแล้ว หาก “ก้าวไกล” เลือกแนวทางนี้ ก็จะเป็นการถอย ที่ทำให้ “พิธา” ได้เป็นนายกฯ แต่จะทำลายจุดแข็งของ “ก้าวไกล” นั่นก็คือ “มวลชน” ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกผิดหวัง และถอยห่างออกจาก “ก้าวไกล” เช่นกัน

แต่ในกรณีที่ “ก้าวไกล” ยังคงยึดมั่นในจุดยืน และสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ไม่กลืนน้ำลายตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ซึ่งก็จะไม่ต่างอะไรกับการที่ “พิธา” ตัดสินใจถอยออกจากโอกาสได้เป็นนายกฯ และ “พรรคก้าวไกล” เลือกที่จะถอยห่างจากการเป็นรัฐบาล แม้ยังคงโดดเดี่ยวในสภา แต่ก็จะอบอุ่นด้วยศรัทธาแห่งมวลชน เพราะเป็นการถอย เพื่อให้ได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า

เป็นการถอย เพื่อกระโดดให้ไกลกว่าเดิม... ในความหมายที่แท้จริง

related