ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนี้ “พรรคก้าวไกล” อยู่ในสถานการณ์ที่ตกเป็นรอง ด้วย “นิติสงคราม” และหมากการเมืองที่ประสานงานแบ่งหน้าที่ในการบดขยี้ จนยากจะแยกได้ว่า ใครคือมิตร ใครคือศัตรู ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า “พรรคก้าวไกล” จะแก้โจทย์ยากๆ ของหมากเกมนี้ ด้วยกลวิธีใด
อุณหภูมิการเมืองเดือดระดับปรอทแทบแตกขึ้นมาอีกครั้ง หลัง กกต. มีมติส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยปม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อไอทีวี พร้อมขอให้ศาลฯ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย รวมถึงการที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้อง ที่ว่าการหาเสียงของ “พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” เข้าข่าย ม.49 หรือไม่ ?
แม้ยังไม่มีคำสั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ทำให้ภาพของ “นิติสงคราม” ชัดเจนขึ้น ที่สามารถทำให้เกิดข้ออ้างและเงื่อนไขสำคัญในการจะโหวตหรือไม่โหวตสนับสนุน “พิธา” ให้เป็นนายกฯ คนต่อไป ในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ซึ่ง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า เคยระบุถึงที่มาและความหมายของคำว่า “นิติสงคราม” ไว้ดังนี้
“ปลายปี 2562 ตนได้นำเสนอเรื่อง Lawfare และคิดคำไทยใช้แทนที่ว่า ‘นิติสงคราม’ และเห็นว่า สถานการณ์การเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 ทอดยาวมาจนถึงปัจจุบัน ได้แปรเปลี่ยน ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ให้เป็น นิติสงคราม เต็มรูปแบบแล้ว
“โดย ‘นิติสงคราม’ หรือ ‘Lawfare’ เป็นการเล่นกับคำว่า ‘Warfare’ ที่แปลว่า ‘การสงคราม’ แทนที่จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ก็เปลี่ยนมาใช้กฎหมายเข้าทำสงครามแทน ดังนั้น ‘นิติสงคราม’ จึงหมายถึง การกำจัดศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านรัฐ หรือรัฐบาล โดยใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ…”
บทความที่น่าสนใจ
ย้อนดูบรรยากาศ เหตุการณ์โหวตนายกฯ ปี 2562 ก่อนโหวตนายกพิธาฯ 13 ก.ค. 66
พรรคก้าวไกล แถลง "ไม่เห็นด้วย" ปม กกต. ยื่นศาล รธน. วินิจฉัย พิธา พ้น ส.ส.
เปิดขั้นตอนโหวตนายกฯ 13 ก.ค. พิธา ต้องไปให้ถึง 376 เสียง เปิดวิธีโหวต-ขั้นตอน
และไม่เพียงแต่ “นิติสงคราม” เท่านั้นที่ “พรรคก้าวไกล” ต้องเผชิญ จนทำให้การเป็นนายกฯ ของ “พิธา” มีโอกาสเป็นไปได้ยาก แต่ยังมีการรับลูกด้วยเกมการเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนคาดว่า สุดท้ายแล้วนอกจาก “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯ “พรรคก้าวไกล” ที่ได้ ส.ส. มากที่สุด อาจต้องกลับกลายไปเป็นฝ่ายค้าน !
ซึ่งเริ่มมีเค้าลางขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ “พรรคก้าวไกล” ไม่สามารถยื้อตำแหน่ง “ประธานสภา” ไว้ได้ ทำให้ไม่อาจกุมความได้เปรียบของเกมในสภา และอาจถูกบีบให้เข้าสู่หนทางที่ตีบตัน หากสมมติว่า หลังจากสลับให้ “เพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำแล้ว แต่ก็ยังได้เสียงในสภา ไม่ถึง 376 เสียง แล้วนำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลสลับขั้ว” ที่ไม่มี “พรรคก้าวไกล” โดยเงื่อนไขสำคัญที่สุด ก็อยู่ที่ “พรรคเพื่อไทย”
ซึ่งจะว่าไปแล้วหากมีความพยายามเช่นนั้นจริงๆ ถ้าสมมติดีลลับต่างๆ มีอยู่จริง ก็ใช่ว่า “พรรคก้าวไกล” จะไม่รู้เท่าทัน แต่ปัญหาก็คือ ถึงรู้แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แม้จะชนะเลือกตั้งอย่างสุดเซอร์ไพรส์ แต่สุดท้ายอาจต้องพ่ายเกมการเมืองอย่างเจ็บปวด
และปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนี้ “พรรคก้าวไกล” อยู่ในสถานการณ์ที่ตกเป็นรองยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหมากการเมืองที่รุกอย่างสลับซับซ้อน มีการประสานงานแบ่งหน้าที่ในการบดขยี้ จนบางครั้งก็ยากจะแยกได้ว่า ใครคือมิตร ใครคือศัตรู ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า “พรรคก้าวไกล” จะพลิกสถานการณ์แก้โจทย์ยากๆ ของหมากการเมืองครั้งนี้ ด้วยกลวิธีใด ?