จาตุรนต์ ฉายแสง ชี้ ปัญหาทางการเมืองทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น ต้องร่วมกันผลักดันให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สำเร็จ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมากกว่าการตั้งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลใหม่
จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมงานเสวนา “Con.Next ออกจากกะลา ไปหารัฐธรรมนูญใหม่” ที่ห้องเอนกประสงค์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “บทบาทของรัฐสภาและเส้นทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ชี้ปัญหาทางการเมืองทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 2560
ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของประชาธิปไตยในวันนี้ คือพี่น้องคนไทยทุกคนต้องร่วมกันผลักดันให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สำเร็จ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมากกว่าการตั้งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลใหม่
1. รัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเริ่มเปลี่ยนไปจากกฎหมายสูงสุดที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนหรืออำนาจสุขสุดเป็นของประชาชน กลายเป็นว่ามีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ไว้มากมายแต่ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดรายได้ ส.ส. - ส.ว. ประธานสภาฯ มีเงินเดือนเท่าไร สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้าง
รู้หรือไม่ ? วันมูหะมัดนอร์ มะทา เคยเป็นประธานสภาฯ ในขณะเป็นฝ่ายค้าน ในอดีต
2. อำนาจสูงสุดในรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นของประชาชน เพราะประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความเห็น มีประชามติที่ฉ้อฉล จนนำมาสู่การเลือกตั้งที่มีความหมายผิดเพี้ยน คือ พรรคชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทั้งหมดคือกฎกติกาที่แผงไว้ทั้งการสืบทอดอำนาจ และสืบทอดการครอบงำของคณะรัฐประหาร โดยมาในรูปของยุทธศาสตร์ชาติ อำนาจที่มา การตรวจสอบบทบาท ของทั้งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระอื่นที่เป็นกลไกสำคัญที่คณะยึดอำนาจแทรกให้เข้ามาครอบงำกำกับองค์กรเหล่านี้อย่างแยบยล ดังนั้น ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ประเทศก็จะเดินหน้าไม่ได้
3. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้แก้ยาก หรืออาจบอกว่า แก้แทบไม่ได้เพราะต้องใช้เสียงสภา 376 เสียง และต้องมีเสียงวุฒิสมาชิก 84 เสียง และเสียงของฝ่ายค้านอีกไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของฝ่ายค้าน ดังนั้นถ้าจะแก้ไขกันทีละมาตราอีก 100 ปีก็แก้ไม่หมด .
4. สาระสำคัญหลักของรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเห็นควรว่าต้องแก้ไข ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่อำนาจหน้าที่ ที่มา การตรวจสอบถ่วงดุล องค์กรอิสระ วุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิกไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี แต่มีอำนาจตรวจสอบถอดถอนองค์กรต่างๆ
5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จัดความสัมพันธ์กับกองทัพ ปฏิรูปเรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาของประเทศต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่สาระสำคัญเหล่านี้ พรรคการเมืองไม่ควรแก้ไขเอง เพราะจะเจอข้อครหาว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง จึงต้องให้มี ส.ส.ร. และสามารถนำเสนอได้โดยต้องระวังไม่ให้โยงกลับมาเรื่องอำนาจของ ส.ส. ซึ่ง ส.ส.ร.ควรมาจากประชาชน แต่พรรคการเมืองและภาคประชาชนสามารถช่วยแนะนำรณรงค์ช่วยเหลือได้
6. การผ่านร่างประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จะลำบากมากที่สุด เพราะกฎหมายประชามติ ฉบับล่าสุด บังคับไว้ว่า “ผู้มาใช้สิทธิต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ” นั่นหมายความว่าทั้งประเทศคนมีสิทธิเท่าไร ต้องออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่งก่อน แล้วค่อยมาดูว่าใครชนะอีกที ซึ่งต่างจากการทำประชามติปี 2550 , 2560 ที่ดูจากคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิเท่านั้น
7. ดังนั้นการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ จึงยังเป็นความยากลำบากถึงที่สุด จะต้องมีกระแสสังคมช่วยผลักดัน มีประชาชนเข้าร่วมตลอดทั้งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ ประเทศไทยจะเดินหน้าไม่ได้เช่นกัน
ที่มา FB : พรรคเพื่อไทย