เรื่องราวของ “พึ่ง ศรีจันทร์” ผู้สร้างตำนานเปิดประชุมสภา ท้าทายอำนาจคณะรัฐประหาร โดยเขาได้รับการยกย่องให้ต้นแบบของ “ประธานสภา” ผู้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เที่ยงตรง เด็ดขาด และเด็ดเดี่ยว
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการโหวตเลือก “ประธานสภา” ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็มี “ประธานสภา” หลายท่านที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม และถ้าพูดถึงนักการเมืองผู้สร้างวีรกรรมในขณะดำรงตำแหน่งประธานสภา ที่ยืนหยัดต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย จนถึงวินาทีสุดท้ายในทำหน้าที่ ชื่อของ “พึ่ง ศรีจันทร์” ก็เป็นอีกหนึ่งตำนานประธานสภา ที่ได้รับการจดจำจนถึงทุกวันนี้
อดีตเสรีไทย ฉายา “นายพลผึ้ง”
“พึ่ง ศรีจันทร์” เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 ที่ จังหวัดสุโขทัย พ่อกับแม่เสียชีวิตตั้งแต่ “พึ่ง” ยังเด็ก โดยมีปู่กับย่าช่วยกันเลี้ยงดูจนเติบใหญ่
หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 “พึ่ง” ก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม และเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของ “ปรีดี พนมยงค์” เขาจบเนติบัณฑิตไทยในปี พ.ศ. 2469 จากนั้นประกอบอาชีพทนายความที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนย้ายมาปักหลักอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยประกอบอาชีพเกษตรกร ค้าไม้สัก และเข้าสู่ถนนการเมืองตั้งแต่ปี 2480
ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2482 – 2488) “พึ่ง” ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย รับผิดชอบภารกิจด้านจังหวัดพิษณุโลก, อุตรดิตถ์, สุโขทัย และตาก โดยเขาได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ จนได้รับฉายาว่า "นายพลผึ้ง"
บทความที่น่าสนใจ
อัปเดต สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตา “ภูมิใจไทย” คำตอบสุดท้ายรัฐบาลก้าวไกล ?
จบศึกชิงประธานสภา การถอยของ "ก้าวไกล" เพื่อกระโดดให้ไกลกว่าเดิม ?
เปิดประวัติ วันมูหะมัดนอร์ มะทา - "วันนอร์" ประธานสภาฯ คนใหม่ ในรัฐบาลก้าวไกล
เส้นทางการเมืองของ “พึ่ง ศรีจันทร์”
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เส้นทางการเมืองของ “พึ่ง” เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2480 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.อุตรดิตถ์ ในปี 2480 และปี 2481
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ “พึ่ง” ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และได้รับการเลือกตั้งในปี 2489 โดยเขาได้เป็น “ประธานสภา” ในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนจะลงสมัครและได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2500
ในฐานะประธานสภา “พึ่ง” ได้รับการยอมรับในการทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เที่ยงตรง และเด็ดขาด จนได้รับความเคารพนับถือและยำเกรงจากเหล่า ส.ส. เป็นอย่างมาก
ซึ่งผู้ใช้นามปากกาว่า “เกียรติ” ได้เขียนถึง “พึ่ง” ขณะทำหน้าที่ประธานสภา ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน ปี 2519 ไว้ดังนี้
“อดีตประธานสภา พึ่ง ศรีจันทร์ เป็นประธานสภาที่วางตัวดีที่สุด ขณะทำหน้าที่ประธานฯ ในที่ประชุม ไม่วอแวกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใด ไม่เอาใจหรือโอนเอียงไปทางฝ่ายรัฐบาล แม้ว่าทางฝ่ายรัฐบาลนั้นจะเป็นพรรค (สหชีพ), ที่เขาสังกัดอยู่หรือเป็นลูกพรรคก็ตาม
“แต่ในเวลาประชุมสภาฯ แล้ว อดีตประธานสภาฯ พึ่ง ศรีจันทร์ ให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมแก่สมาชิกทุกๆ คน และทุกๆ พรรคเสมอ ยอมรับรู้มติของพรรคในการกำหนดตัว ส.ส. ให้อภิปราย ไม่ยอมรับโน้ตเป็นใบสั่งของสมาชิกในพรรคของตัวเอง หรือพรรคอื่นว่า ให้ ส.ส. คนใดพูด
“อดีตประธานสภา พึ่ง ศรีจันทร์ จะตัดสินด้วยสมองของตนเอง ในฐานะที่รู้จักคบค้าสมาคมกับ ส.ส. รู้ทั้งคารมและนิสัยใจคอของสมาชิก ชี้ให้ ส.ส. คนใดอภิปรายโดยไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับ และแม้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในพรรคของตนเองก็ตาม เมื่อยังไม่ถึงรอบจะอภิปราย แม้จะยกมือขออภิปรายก็ไม่ยอมให้ออกมาอภิปราย และแม้รัฐมนตรีผู้นั้นจะขอร้องว่าเป็นสิทธิ แต่สิทธิในการอนุญาตของประธานสภา ย่อมเหนือกว่า
“นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ตลอดจนสมาชิกต่างเกรงกลัวต่ออำนาจอันเป็นธรรมและเด็ดขาด ตลอดจนความเกรงใจต่อการใช้จรรยาบรรณของประธานฯ อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมา
“สมาชิกไม่กล้าอภิปรายละลาบละล้วง ไม่กล้าอภิปรายเล่นหัวหรือเสียดสีอดีตประธานสภา พึ่ง ศรีจันทร์ เลย แต่เมื่อเลิกประชุมแล้วก็เป็นกันเองกับสมาชิก กินข้าวด้วยกัน โต๊ะเดียวกันและพูดจาสัพยอกหยอกล้อกันเหมือนกับเพื่อน แต่บนบัลลังก์ในที่ประชุมสภาฯ แล้ว อดีตประธานสภา พึ่ง ศรีจันทร์ จะเปลี่ยนสภาพของตัวเองและเปลี่ยนนิสัยให้เข้ากับบรรยากาศในที่ประชุมได้สมฐานะและตำแหน่ง…”
วีรกรรมของ “พึ่ง” ขณะเป็น “ประธานสภา”
วีรกรรมของ “พึ่ง” ขณะเป็น “ประธานสภา” ที่ยังคงได้รับการเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือการแสดงให้เห็นภาวะของผู้นำในช่วงวิกฤต ไม่สยบยอมให้กับสิ่งที่ตนเองเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม แต่พร้อมจะยืนยันท้าทายอย่างเด็ดเดี่ยว
โดยวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้เกิดการรัฐประหารขึ้น โดย “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” (พ่อของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร
แต่ “พึ่ง” ก็ยังคงมาทำหน้าที่ “ประธานสภา” ตามปกติ พอถึงเวลา 10.00 น. ก็เรียกประชุมสภา ซึ่งมี ส.ส. บางคนมาร่วมประชุมด้วย ส่วนคณะรัฐมนตรีหนีกันไปหมด
โดยระหว่างที่กำลังประชุมสภา ก็มีรถถังมาจอดอยู่หน้ารัฐสภา และทหารจำนวนมากพร้อมอาวุธสงคราม เข้ามาควบคุมสถานการณ์ภายในรัฐสภา แต่ “พึ่ง” ก็ยังคงประชุมสภาต่อไป อย่างไม่สนใจต่อแรงกดดันดังกล่าว ด้วยเขาถือว่า การรัฐประหาร คือการกบฎ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
การกดดันอย่างหนักหน่วงยังคงดำเนินต่อไป แต่ “พึ่ง” ก็ยังไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง “พล.ท.หลวงกาจสงคราม” รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร ต้องเข้ามาเชิญ “พึ่ง” ด้วยตัวเอง ก่อนคุมตัวไปไว้ที่กระทรวงกลาโหม แต่เมื่อไม่สามารถตั้งข้อหาเอาผิดกับ “พึ่ง” ได้ เขาก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาในที่สุด
“พึ่ง” ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ปี 2535 สิริอายุรวม 85 ปี โดยในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เขาได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นต้นแบบของ “ประธานสภา” ที่ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง เที่ยงตรง เด็ดขาด และเด็ดเดี่ยว จนได้รับการจดจำจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง
พึ่ง ศรีจันทร์ : ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นแบบอย่างในระบอบรัฐสภาไทย โดย สุพจน์ ด่านตระกูล