“เพื่อไทย” โชว์สกิลความเก๋าในศึกชิง “ประธานสภา” บีบให้ “ก้าวไกล” ต้องยอมถอย ซึ่ง “พิธา” มองว่า เป็นการถอยเพื่อกระโดดให้ไกลกว่าเดิม แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?
สิ้นสุดลงไปเรียบร้อย สำหรับ "ศึกชิงประธานสภา" ที่แสดงให้เห็นถึงความเก๋าเกมระดับซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลายชั้นหลายตลบของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ส่งผลให้ “พรรคก้าวไกล” ต้องตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพราะสูญเสียที่มั่นสำคัญไปแล้ว นั่นก็คือตำแหน่ง “ประธานสภา”
ซึ่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยอมรับอย่างไปตรงไปมาว่า นี่คือการถอย แต่เป็นการถอยอย่างมีเป้าหมาย โดยได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมสภาว่า “ผู้นำที่ดี ต้องรุกได้ ถอยเป็น การรักษาเอกภาพเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเป็นสิ่งสำคัญ... บางครั้งถ้าคุณจะก้าวกระโดดให้ไกล ก็ต้องถอยนิดนึง ถ้าคุณไม่ถอย คุณยืนอยู่กับที่ คุณก็กระโดดได้ไม่ไกล”
แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า การวางหมากอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของ “พรรคเพื่อไทย” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่บีบให้ “ก้าวไกล” จำเป็นต้องถอย โดยอาศัยความคลุมเครือไม่ชัดเจน ออกอาการให้เข้าใจว่าตกเป็นรอง รอจังหวะที่เหมาะสม ก่อนรุกฆาตแบบสายฟ้าแลบ จนยากที่ “ก้าวไกล” จะปรับเกมได้ทัน เพราะ “เพื่อไทย” เปิดไพ่ใบสำคัญก่อนจะมีการโหวตเลือก “ประธานสภา” แค่วันเดียว
บทความที่น่าสนใจ
ทาง 3 แพร่งการเมืองไทย จับตาเก้าอี้ประธานสภา ชี้ชะตา ใครเป็นนายกฯ
ดร. ปริญญา ชี้ วันนอร์ นั่งประธานสภาฯ เพื่อไทย-ก้าวไกล ผูกมัดกันแน่นขึ้น
ประกอบกับภาพลักษณ์ของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง “ประธานสภา” เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสังคมมองว่า เป็นหนทางที่ลงตัวที่สุด ในกรณี 2 พรรคใหญ่ไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้นหาก “ก้าวไกล” ยังคงเล่นบทแข็งกร้าวต่อไป ก็อาจจะส่งผลในแง่ลบมากกว่าแง่บวก และนำไปสู่การแตกหักระหว่างทั้ง 2 พรรคก่อนเวลาอันควร
ซึ่งในความเป็นจริง ศึกชิงตำแหน่ง “ประธานสภา” ชัยชนะของ “เพื่อไทย” ไม่จำเป็นที่พรรคตัวเองต้องได้ตำแหน่งนี้ แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ “ก้าวไกล” ได้ตำแหน่งดังกล่าว หากสมมติว่าดีลลับกับบางพรรคนั้นมีอยู่จริง !
ในขณะที่ชัยชนะของ “ก้าวไกล” หมายถึง ต้องได้ตำแหน่ง “ประธานสภา” เท่านั้น เพื่อการันตีการเป็น “พรรคร่วมรัฐบาล” และทำให้การถูกบีบ ถูกดีดไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นไปอย่างไม่ง่ายดายนัก
โดยในความเป็นจริงก็อย่างที่รู้ๆ กัน เหตุผลสำคัญที่ “พรรคก้าวไกล” ต้องยึดตำแหน่งนี้เอาไว้ให้มั่น ก็เพราะความไม่ไว้วางใจ “พรรคเพื่อไทย” อันเนื่องมาจากข่าวสะพัดดีลลับต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องพึ่ง “เพื่อไทย” หากต้องการได้ตำแหน่ง “นายกฯ” และได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ซึ่งก็มีการประเมินกันตั้งแต่ก่อน “ศึกชิงประธานสภา” จะยุติแล้วว่า โอกาสที่ “พิธา” จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. จนได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็ยังมีลุ้นในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่
และถึงแม้ขั้นตอนต่อไปที่วางไว้ หลังจาก “พิธา” ไปต่อไม่ได้ นั่นก็คือให้ “พรรคเพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังอาจได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่มากพอ จึงจำเป็นต้องดึง “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” เข้ามาเติมเสียง เช่น “พรรคภูมิใจไทย” เป็นต้น
แต่สมมติว่า มีการเล่นเกมยืดเยื้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบีบให้ “ก้าวไกล” ไปเป็นฝ่ายค้าน ทาง “พรรคภูมิใจไทย” ก็อาจจะตั้งแง่ หรือมีเงื่อนไขที่สร้างความลำบากใจให้กับ “พรรคก้าวไกล” รวมมถึงอาจปฏิเสธไม่เข้าร่วมด้วย เพื่อเปิดทางไปสู่การตั้งรัฐบาลสลับขั้ว
ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” มีข้ออ้างในการดึง “พรรคพลังประชารัฐ” เข้ามาร่วมแทน ด้วยหวังคอนเนคชั่นของ “บิ๊กป้อม” กับกลุ่ม ส.ว. ซึ่งถ้าไปถึงจุดนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการบีบให้ “ก้าวไกล” ต้องตัดสินใจไปเป็นฝ่ายค้าน อันเนื่องมาจากสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน ว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค 2 ลุงอย่างเด็ดขาด ด้วยแคมเปญ “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง”
แต่หากตำแหน่ง “ประธานสภา” เป็นของ “ก้าวไกล” ก็เดินเกมบีบเพื่อดีดต่างๆ ก็จะดำเนินไปอย่างยากลำบาก ตำแหน่ง “ประธานสภา” จึงมีความสำคัญกับ “ก้าวไกล” เป็นอย่างมาก
การถอยใน “ศึกประธานสภา” จึงมีแนวโน้มว่า จะยิ่งทำให้ “ก้าวไกล” ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นโอกาสที่จะกระโดดได้ไกลของ “ก้าวไกล” จึงอาจยังไม่ใช่ในครั้งนี้ !
และอีกสิ่งที่น่าสนใจจาก “ศึกชิงประธานสภา” ก็คือ ความคลุมเครือไม่ชัดเจน ที่เป็นปัจจัยทำให้ “เพื่อไทย” ต้องแพ้ในการเลือกตั้ง แต่วิธีเดียวกันนี้ กลับทำให้ได้รับชัยชนะทางการเมือง ที่สำคัญได้ให้บทเรียนกับ “พรรคก้าวไกล” ในระดับจำฝังใจ อย่างชนิดที่ว่า... ยากจะลืมเลือน