svasdssvasds

เปรูขุดพบ ร่างเด็กไร้หัวใจ 76 ร่าง เหยื่อบูชายัญในอดีต ทำไมเด็กถูกสังเวย?

เปรูขุดพบ ร่างเด็กไร้หัวใจ 76 ร่าง เหยื่อบูชายัญในอดีต ทำไมเด็กถูกสังเวย?

นักโบราณคดีขุดพบร่างเด็ก ถูกควักหัวใจ 76 ร่าง คาดเป็นเหยื่อจากพิธีบูชายัญโบราณก่อนยุคสมัยอินคา และเชื่อว่ายังมีเหยื่อที่ยังไม่ถูกค้นพบอีก 1,000 ร่างซ่อนเร้นอยู่ ทำไมต้องบูชายัญ?

ภาพยนตร์ผจญภัยหลาย ๆ เรื่อง หรืองานเขียนวรรณกรรมต่าง ๆ หลายแหล่งมักมีการกล่าวอ้างถึงวัฒนธรรมโบราณจากแถบอเมริกาตอนกลางและตอนใต้ที่เคยเกิดขึ้นจริงบนหน้าประวัติศาสตร์โลก ถึงการบูชายัญเทพเจ้าด้วยเลือดเนื้อสด ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่า พิธีกรรมเหล่านี้จริงเหรอ เมื่อไม่นานมานี้ มีวารสารเผยแพร่ใหม่จากนักโบราณคดีถึงการขุดพบซากศพเด็ก เหยื่อพิธีบูชายัญที่เปรูถึง 76 ร่าง ซึ่งร่างที่พบเหล่านั้น มีการควักหัวใจออกไป และเชื่อว่าจะมีเหยื่อมากกว่านี้

ไซต์ขุดพบร่างเด็ก Cr. Huanchaco Archaeological Program / Livescience กาเบรียล ปริเอโต (Gabriel Prieto) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฟลอลิดาและเป็นผู้กำกับการขุดค้นที่ปัมปาลา ครูซ (Pampa La Cruz) บริเวณใกล้ฮวนชาโก (Huanchaco) บอกว่า จากการตรวจสอบ โครงกระดูกทั้งหมดแสดงหลักฐานว่า หัวใจของเด็กเหล่านี้ถูกถอดออก โครงกระดูกทั้ง 76 ร่างนั้น ช่วงกระดูกซี่โครงถูกตัดตามขวาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีการเปิดซี่โครงออกก่อนแล้วจึงดึงหัวใจออกมา

“พวกเขาถูกฝังไว้ในตำแหน่งที่เท้าหันไปทางทิศตะวันออก บนเนินดินเทียม ซึ่งยังไม่ชัดเจนนักว่าทำไมพวกเขาถูกใว้ในตำแหน่งนี้ แต่นักโบราณคดีคิดว่า จะใช่การทำพิธีบูชายัญของชาวชิมู (Chimu) ชนเผ่าอารยธรรมโบราณก่อนยุคอินคาหรือไม่”

ในความเป็นจริง มีการขุดเจาะที่ปัมปา ลา ครูซ มาหลายปีแล้ว จนถึงขณะนี้มีการพบเหยื่อเด็กถูกบูชายัญกว่า 323 รายในพื้นที่ดังกล่าวและพบเหยื่อการสังเวยเด็กอีก 137 ราย ผู้ใหญ่อีก 3 รายในพื้นที่ใกล้เคียงที่เรียกว่า ลาส ลามาส (Las Llamas) ซึ่งซากเด็กบ่งชี้ว่าถูกควักหัวใจออกไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

นักโบราณคดีเชื่อว่า ตั้งแต่เริ่มขุดค้นในตอนแรกจนถึงตอนนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีการเสียสละของเด็ก ๆ อีกมากที่รอการค้นพบ และคาดว่าอาจมีเหยื่อมากถึง 1,000 คนก็เป็นไปได้

กระบวนการหาอายุด้วยการจับคู่เรดิโอคาร์บอนจำเป็นที่จะต้องทำบนโครงกระดูกใหม่ทั้ง 76 ชิ้นนี้ซึ่งกำลังสืบหาอายุกันอยู่ แต่ก่อนหน้านี้ได้ทดสอบกับเหยื่อที่พบในปัมปา ลา ครูซแล้วพบว่า เหยื่อมีอายอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1100 -1200 ซึ่งในช่วงนั้น ชาว Chimu ขึ้นชื่อเรื่องานโลหะชั้นดีและเมือง Chan Chan ที่กำลังเจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยนั้น

ชิมู (Chimu) คือใคร

วัฒนธรรมชิมู Chimu หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาณาจักรแห่ง Chimor ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของเปรู มีอายุถึงในช่วงปีค.ศ. 850  จนกระทั่งถูกยึดครองอาณาจักรไปโดยชาวอินคา เมื่อราว ๆปี 1470

พื้นที่ของวัฒนธรรม Chimor Cr. CC BY-SA 4.0

Chimu สร้างเมืองหลวงอันกว้างใหญ่ของพวกเขาที่ถูกเรียกว่า Chan Chan ในหุบเขาแม่น้ำที่ชื่อว่า Moche และก็ค่อย ๆ ขยายอิทธิพลด้วยการสู้รบ

พวกเขาไปถึงจุดที่รุ่งเรืองที่สุดคือราวๆ ปี 1350 หลังจากเอาชนะเมือง Sican ที่อยู่ใกล้เคียงได้   แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านอำนาจการขยายอาณาจักรของอินคาได้ ผู้นำชิมูจึงต้องยอมจำนนต่อกองกำลังของอินคา

ตัวอย่างมงกุฎ Chimu และเครื่องประดับร่างกายที่ทำจากเงินที่พิพิธภัณฑ์ Larco Herrera Cr. perunorth.com

ทำไม Chimu ถึงต้องบูชายัญเด็ก?

เหตุใด Chimu ถึงมีส่วนร่วมในการสังเวยเด็กเช่นนี้ เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนซะทีเดียว มีการคาดการณ์ว่า Chimu ได้สร้างระบบชลประทานเทียมและทุ่งเกษตรกรรมใหม่ ๆ ในบริเวณใกล้เคียงและอาจมีการเสียสละบางอย่างเพื่อ “ชำระความบริสุทธิ์” ของระบบเกษตรตรงนี้ก็เป็นไปได้

Richard Sutter ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจาก Purdue University Fort Wayne ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ทำงานที่ Huanchaco กล่าวว่า บรรพบุรุษของพวกเขาก่อนหน้ามีการฝึกฝนการเสียสละของมนุษย์ในพื้นที่ หรือมีการสังเวยอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาแค่สืบสานประเพณีต่อเนื่องเรื่อยมา แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจนซะทีเดียว

เปรูขุดพบ ร่างเด็กไร้หัวใจ 76 ร่าง เหยื่อบูชายัญในอดีต ทำไมเด็กถูกสังเวย? นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ของการนำเด็กมาบูชายัญคือ ปัญหาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปงของสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจขัดขวางการทำการเกษตรของพวกเขา และเพื่อให้การเกษตรดำเนินต่อไปได้ จึงต้องมีการบูชายัญ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สภาพอากาศที่ว่า อาจจะเป็น เอลนีโญ วัฏจักรสภาพอากาศที่ น้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกเคลื่อนตัวเข้าใกล้ทวีปอเมริกาใต้มากขึ้น ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ทีมงานกำลังขออนุญาตจากกระทรวงวัฒนธรรมของเปรูให้ขนส่งตัวอย่างบางส่วนไปต่างประเทศ เพื่อให้ตัวอย่างได้รับการทดสอบเพื่อกำหนดวันที่ที่แน่นอนยิ่งขึ้น และเพื่อขยายเรื่องราวนี้ให้กระจ่างมากขึ้น

ที่มาข้อมูล

https://www.livescience.com/child-sacrifices-chimu-people-peru

https://www.perunorth.com/chimu-civilisation-northern-peru

related