ภาระดอน ลูกโลมาอิรวดีเกยตื้นไร้แม่ จ.ตราด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ได้รับการดูแลโดยทีมอาสาและสัตว์แพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง อาการทรุดหนักลงและถูกประกาศเสียชีวิตแล้ว
ภาระดอน เป็นลูกโลมาอิรวดีเพศผู้ (Orcaella brevirostris) ถูกพบเห็นมาเกยตื้นที่ จ. ตราด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่มาเกยตื้นตัวเดียว ในบริเวณใกล้เคียงไม่พบแม่ ทีมคุณหมอและอาสาสมัครจึงนำมาอนุบาลไว้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายากที่จังหวัดระยอง
ที่มาของชื่อ ภาระดอน หรือ ภาระดร มาจากคำเรียกเล่น ๆ ว่า น้องเป็นภาระ (ธุระ หน้าที่ งานหนัก) และภารดร ยังหมายความว่า พี่ชาย น้องชาย อีกด้วย
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ภาระดอน ถูกดูแลอนุบาลโดยทีมสัตว์แพทย์ ทช.และอาสาสมัครจาก ThaiWhales ในช่วงแรกที่เข้ามา ภาระดรไม่สามารถทรงตัวเองได้หรือว่ายน้ำเองได้ มีบาดแผลบนตัว เจ้าหน้าที่ต้องคอยผลัดเวรยามเฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมงหลายอาทิตย์ เพราะเจ้าภาระดร ยังไม่หย่านม จึงต้องมีการป้อนนมกันตลอด
ในเวลาต่อมา ภาระดรเริ่มมีอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มว่ายน้ำได้ กินนมคล่องและกินเยอะ เป็นเหมือนเด็กกำลังซนคนหนึ่ง แต่เนื่องจากยังเป็นลูกโลมา สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ มันไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากนมแม่ตามธรรมชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วราวุธ เผย กำลังเร่งขยายพันธุ์โลมาอิรวดีที่เหลือในไทยแค่ 14 ตัว
อาจารย์ธรณ์ประกาศข่าวดี โลมาอิรวดีกำลังได้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติแล้ว
เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง?
และเมื่อวาน (6 ก.ย.2565) ทางเพจ ThaiWhales ซึ่งเป็นอาสาสมัครหลักในการผลัดเวรดูแลภาระดรก็แจ้งข่าวร้ายว่า ลูกโลมาอิรวดี เจ้าภาระดอน ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากมีอาการซึม ไม่ยอมให้แพทย์ทำหัตถการและผอมลงมาก ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตหลักกำลังรอผลชันสูตรจาก Lab
ปัจจุบัน โลมาอิรวดี อย่างเจ้าภาระดอน เหลืออยู่บนโลกนี้น้อยมาก แม้โลมาอิรวดีอย่างภาระดรจะเป็นโลมาอิรวดีที่อยู่ในน้ำทะเล แต่สำหรับโลมาอิรวดีที่ทะเลสาบสงขลา ก็สามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้งในน้ำทะเล น้ำกร่อย และน้ำจืดได้ แต่ปัจจุบันด้วยสภาพทะเลสาบสงขลาตอนบนเป็นน้ำจืดหมดแล้ว โลมมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาจึงยิ่งมีความพิเศษ เพราะเป็นโลมาน้ำจืดที่มีเพียง 5 แห่งในโลกเท่านั้น และในไทยคาดว่าเหลือเพียง 14 ตัว ซึ่งเป็นที่มาของโครงการ #TheLast14
โลมา 14 ตัวในไทยอาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา และมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ในระดับสุงสุด และถูกจัดอันดับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535และยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติด้วย
ถ้าหากเราทำให้ 14 ตัวที่เหลือนี้จากไป นั่นแสดงให้เห็นว่าเราได้ปิดฉากสุดท้ายของประวัติศาสตร์ 6,000 ปีแล้วเรียบร้อย และพวกมันจะกลายเป็นเพียงแค่ตำนานที่เคยมีลมหายใจเท่านั้น
ที่มาข้อมูล