โลมาอิรวดีเหลือในไทยเพียง 14 ตัว นายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพฯ เผย กำลังเร่งขยายพันธุ์สายพันธุ์โลมาอิรวดีให้เข้มแข็ง และกำลังเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแก้ไขปัญหานี้
19 กรกฎาคม 2565 นายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงกระบวนการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ที่เหลืออยู่ในไทยเพียง 14 ตัวเท่านั้น โดยเผยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย กำลังเร่งประสานงานขยายสายพันธุ์เพื่อไม่ให้สายเลือดของสายพันธุ์ใกล้ชิดกันเกินไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งในกับสายพันธุ์โลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ในไทยเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น
นอกจากนี้จะทำการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพี่น้องชาวประมงที่อยู่ในพื้นที่ ด้านผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการก็กำลังเร่งประสานกับทุกฝ่าย ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติในการรักษา 14 ชีวิตของโลมาอิรวดีของไทย พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำสารคดี The last 14 ที่ว่าด้วยเรื่องราวของโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในไทยและการดำเนินการอนุรัก์สายพันธุ์ที่เหลืออยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำรวจสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 10 สายพันธุ์แห่งปี 2021 ที่ต้องเร่งอนุรักษ์แล้ว!
อาจารย์ธรณ์ประกาศข่าวดี โลมาอิรวดีกำลังได้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติแล้ว
เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง?
สถานการณ์โลมาอิรวดี
ปัจจุบันโลมาอิรวดีในแหล่งน้ำจืด เหลืออยู่เพียง 5 แห่งเท่านั้น ได้แก่ อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว เมียนมาร์ 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัวและไทย 14 ตัว
โลมา 14 ตัวในไทยอาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา และมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ในระดับสุงสุด และถูกจัดอันดับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535และยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติด้วย
อาจารย์ธรณ์ เคยโพสต์อธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลมาอิรวดีไว้ว่า จากโลมาอินรวดีร้อยตัวลดลงมาเหลือเพียง 14 ตัว ภายในระยะเวลา 30 ปีเท่านั้น และมีความรู้สึกสิ้นหวังอย่างมากในการที่จะพลิกฟื้นสัตว์น้ำหายากเหล่านี้ที่เหลืออยู่ในไทยเพียงแค่ 14 ตัว ถ้าหากเราทำให้ 14 ตัวที่เหลือนี้จากไป นั่นแสดงให้เห็นว่าเราได้ปิดฉากสุดท้ายของประวัติศาสตร์ 6,000 ปีแล้วเรียบร้อย และพวกมันจะกลายเป็นเพียงแค่ตำนานที่เคยมีลมหายใจเท่านั้น
สาเหตุการตายของโลมาอิรวดีส่วนใหญ่มากจาก การไปติดเครื่องมือของชาวประมง รองลงมาคือไม่ทราบสาเหตุและอาการเจ็บป่วย ซึ่งทั้งหมดนี้พบได้ในทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2549 - มี.ค. 2565 โลมาอิรวดีได้มาเกยตื้นตายทั้งหมด 94 ตัวแล้ว และตั้งแต่ปี 2558 เราก็ได้ติดตามดูพวกมันอย่างใกล้ชิดเสมอมาจนตอนนี้เหลือประชากรโลมาอิรวดีเพียง 14 ตัวเท่านั้น
นายวราวุธ เคยอธิบายเรื่องโลมาอิรวดีไว้ว่า “ในช่วงปี 2561 มีการประกาศแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา แต่แนวโน้มประชากรยังคงลดลง โดยในปี 2558 มีรายงานการพบ 27 ตัว แต่ปัจจุบัน ปี 2565 เหลืออยู่ 14 ตัว จึงจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจตราเฝ้าระวัง ป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือหยุดการใช้เครื่องมือที่เป็นภัยคุกคามเข้มงวดมากขึ้น
ในด้านการดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี 14 ตัว ที่เหลืออยู่ตอนนี้ ในระยะสั้น พวกเราจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องระบบ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ให้ถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการออกทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิต ที่เหลืออยู่
ทั้งนี้ ความเคยชินในวิถีการทำประมงที่ยังหมิ่นเหม่ต่อการดำรงชีวิตของโลมาอิรวดี ของผู้คนในพื้นที่บางคน และบางส่วนมาจากนอกพื้นที่ ที่อาจจะยังไม่รู้ถึงความสำคัญตรงนี้ พวกเราจะหาแนวทางปรับความเข้าใจกันใหม่ ให้เข้มงวด และเข้าใจให้ตรงกัน เชื่อว่าเมื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าใจ เขาจะต้องรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของพวกเขาแน่นอนครับ”
การดูแลอนุรัก์ในระยะยาว เราจึงจำเป็นที่จะต้องสำรวจศึกษา วิจัย เกี่ยวกับการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดในกลุ่มโลมาทะเลสาบสงขลา การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบ การแก้ปัญหามลพิษ การตื้นเขิน และเร่งเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี รวมทั้งสร้างศูนย์ช่วยเหลือและพยาบาลสัตว์ทะเล เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือพร้อมอุปกรณ์การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการดูแลจัดการถิ่นที่อยู่ของโลมา และการจัดการสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา อย่างระมัดระวัง
ที่มาข้อมูล
https://www.nationtv.tv/news/378880277
https://www.thaiwhales.org/thelast14/list.html
https://www.bangkokbiznews.com/social/1001340
รูปภาพ : https://www.thainationalparks.com/species/irrawaddy-dolphin