เช็กอาการ 7 สัญญาณ เป็นคนติดโซเชียลมากเกินไป นักวิจัยชี้ว่าผู้หญิงมีเสี่ยงเป็นมากกว่าผู้ชาย พร้อมเสนอวิธีแก้ลดอาการการติดโซเชียลฯ
ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้เลยว่า โซเชียลฯ แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่ตอนตื่นนอนยันถึงเวลาเข้านอน เพราะโซเชียลฯ ทำให้เราสามารถอัพเดทข่าวสารกับคนอื่นๆ รวมถึงการติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ไวและทันท่วงทีได้มากกว่า ส่วนในด้านของความบันเทิงก็ตอบสนองได้ดีอีกด้วย
ถึงแม้จะช่วยเปิดโลกได้กว้างมากขึ้น แต่การที่ใช้โซเชียลฯ มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียให้กับชีวิตมากมายอย่างคาดไม่ถึงได้ด้วย ดังนี้
ข้อเสีย
ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ลดลง
ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์สังคมที่ต้องมีการพูดคุยตลอดเวลา และโซเชียลฯ ก็ทำให้สามารถสื่อสารกันง่ายมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นการพูดคุยต่อหน้ามากกว่าพิมพ์ข้อความส่งก็ย่อมส่งผลดีกว่าอยู่ดี โดยมีงานวิจัยชื่อว่า Effect of social media use on learning, social interactions, and sleep duration นักเรียนวัยรุ่น 59% รู้สึกว่าการเล่นโซเชียลฯ มากเกินไปทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงแย่ลง
สุขภาพจิตเสีย
โดยมีงานวิจัยจาก JAMA Psychiaty ได้ศึกษาจากวัยรุ่นจำนวน 6,595 คน พบว่าวัยรุ่นที่ใช้เวลากับโซเชียลฯ นานกว่า 3 ชม.ต่อวัน มักมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าวัยรุ่นกลุ่มที่ใช้โซเชียลฯน้อยกว่า นอกจากนี้แล้วทาง The Lancet Child & Adolescent Health ก็ศึกษาจากวันรุ่น 12,000 คนที่มีอายุช่วง 13 – 16
พบว่าวัยรุ่นชายหญิงส่วนมากมักเช็กโซเชียลฯ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน มีแนวโน้มส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจะเกิดปัญหากับวัยรุ่นหญิงที่จะรู้สึกมีความสุขน้อยลง และวิตกกังวลมากขึ้นกว่าวัยรุ่นชาย
ข่าวที่น่าสนใจ
อยากเป็นจุดสนใจอยู่เสมอ
ดร.เจฟฟ์ แมคโดนัลล์ นักจิตวิทยาจาก University of Toronto บอกว่า “การได้รับการยอมรับจากคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญของสัตว์สังคม เสมือนเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีตัวตน และโซเชียลมีเดียก็เป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นมาเพื่อตอบสนองด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ถ้าหากว่ามันมากเกินไปก็จะทำให้เสพติดและอยากได้รับความสนใจตลอดเวลา ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดก็จะทำให้รู้สึกแย่ วิตกกังวล เครียดได้ในที่สุด”
นอนหลับได้ไม่ดี
นอกจากเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพจิตแล้ว การเล่นโซเชียลฯ มากเกินไปก็ยังส่งผลต่อสุขภาพการนอนหลับอีกด้วย เพราะจะทำให้เราโฟกัสกับข่าวสาร ดราม่าต่างๆ และไม่มีเวลาพักผ่อนหรือรู้ตัวอีกทีก็เช้าแล้ว
เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ เสมอ
เพราะในโลกโซเชียลทุกคนจะพยามโพสต์ถึงด้านดีๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน หน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ที่อาจทำให้ผู้ที่เลื่อนผ่านไปเจอเกิดความไม่พอใจและเริ่มเปรียบเทียบกับตัวเอง
โดยมีงานวิจัย Social comparison, social media, and self esteem ได้ศึกษาพบว่าผู้ที่เล่น Facebook หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ บ่อยๆ จะมีแนวโน้ม self-esteem ต่ำกว่าผู้ที่เล่นน้อยกว่า อีกทั้งยังติดนิสัยชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอีกด้วย
นอกจากนี้นักวิจัยยังเผยถึง 7 สัญญาณของคนที่เข้าข่ายติดโซเชียลมากเกินไป ดังนี้
1.รู้สึกตัวว่ามีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง
2.เล่นโซเชียลในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ตอนเรียน ทำงาน ทำกิจกรรม ไปจนถึงตอนขับรถ
3.มีปัญหาด้านความสัมพันธ์จากโซเชียลมีเดีย
4.ไม่ทำกิจกรรมอื่นนอกจากการเล่นโซเชียลมีเดีย
5.จะรู้สึกเป็นกังวลหากไม่ได้เช็กโซเชียลมีเดีย
6.หลอนได้ยินเสียงแจ้งเตือนโทรศัพท์ ทั้งๆที่ไม่มีอะไร
7.คิดวางแผนเรื่องที่โพสต์ตลอดเวลา
ทั้งนี้เมื่อเริ่มเข้าข่ายแล้ว จึงได้มีการรณรงค์ Social Detox เพื่อบำบัดการเสพติดโซเชียลมีเดีย และลดผลร้ายที่จะตามมาให้เบาลงเพื่อสร้างความสมดุลย์ให้กับชีวิตและจิตใจมากขึ้น โดยมีวิธีตามนี้
1.กำหนดเวลาในการใช้หรือเลิกเล่น เช่น ไม่เช็กโซเชียลก่อนเข้านอน 1-2 ชม. เพราะมีวิจัยจาก University of Pennsylvania เผยว่าการลด 30 นาทีต่อวันช่วยลดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ปัญหาการนอนและอาการ FOMO ได้ และเพิ่มพูนสมาธิรวมถึงควบคุมอารมณ์ได้ดีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
2.เริ่มเช้าวันใหม่โดยไม่จับโทรศัพท์ แก้โดยการเปลี่ยไปใช้นาฬิกาปลุกจริงๆ ยืดเส้นยืดสาย จิบกาแฟ หรือนมอุ่นๆสักแก้วแทน
3.ให้เวลากับกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นลงเรียนศิลปะ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือไปเที่ยวข้างนอก
4.เลิกติดตามคนอื่นแล้วหันมาโฟกัสที่ตยเองแทน
5.ลบแอปพลิเคชั่น แม้จะเป็นวิธีที่ยากแต่ถ้าทำได้จะมีเวลาๆ ไปโฟกัสหรือมีบางอย่างที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
6.คิดแง่บวกกับตัวเองเสมอ ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร
ถ้าหากทำได้ดังนี้จะทำให้ชีวิตโฟกัสมาที่ตนเอง และลดความเครียดหรือเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นลงได้อย่างแน่นอน