โลกร้อนกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมสัตว์ให้บ้าคลั่งมากขึ้น งานวิจัยใหม่เผย สัตว์น้ำนักล่าเริ่มหิวกระหายและกินเยอะขึ้นเกินความจำเป็น เนื่องจากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น
เป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องเริ่มให้ความสำคัญกันอย่างจริงจังมากขึ้นแล้วว่ะ กับวิกฤตภาวะโลกร้อน ที่ตอนนี้ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ บนโลกให้ผิดเพี้ยนไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่กุ้งล็อปสเตอร์เกยหาดหลายพันตัวที่แอฟริกาใต้ เพนกวินน้อยกว่า 500 ตัวตายเกยตื้นในนิวซีแลนด์ น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนสัตว์เริ่มอดตายไปทีละหลาย ๆ ตัว และปัญหามากมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมธรรมชาติไปมากเหลือเกิน
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์เป็นสำคัญ โลกร้อนขึ้นนี้ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นตาม สิ่งนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามธรรมชาติ อย่างสัตว์ต่าง ๆ ให้พวกมันเริ่มมีพฤติกรรมแปลก ๆ รวมไปถึง ทำให้พวกมันบ้าคลั่งขึ้นด้วย
งานวิจัยใหม่เขาว่าไว้?
งานวิจัยใหม่ที่ได้ตีพิมพ์ลงวารสาร Science เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เผยให้เห็นปัญหาประการหนึ่งที่นักวิทย์ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้นได้ และมีหลักฐานการทดลองให้เป็นประจักษ์ด้วย นักวิทย์พบว่า ปลานักล่าใต้ท้องทะเลมีความหิวกระหายมากขึ้น โดยเฉพาะนักล่าที่อยู่ในเขตน้ำที่อุ่นกว่าปกติ ซึ่งสิ่งนี้สร้างความกังวลหลายด้าน แต่ที่ต้องพึงระวังเลยคือ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอันตรายต่อสัตว์หลายชนิดที่อยู่ต่ำกว่าในห่วงโซ่อาหารของสัตว์นักล่า
Gail Ashton ผู้เขียนหลักในการศึกษานี้และเป็นนักนิเวศวิทยาทางทะเลที่ Smithsonian Environmental Research Center ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ทางน้ำและบนบก เธอกล่าวว่า เราจะต้องพบเจอกับการสูญเสียอีกมากมายแน่นอนจากเหตุการณ์นี้
อะไรทำให้พวกมันคลั่งขนาดนี้?
เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการล่าอย่างหิวกระหายเพิ่มขึ้นนี้ มาจากผู้ล่ามีกำลังเผาผาญพลังงานมากขึ้น ยิ่งอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเท่าไหร่ พวกมันก็ยิ่งต้องการพลังงานมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้พวกมันยังคงพลังงานเท่าเดิมและเพื่อความกระฉับกระเฉงในการดำรีวิตต่อไป สิ่งนี้เองจึงกระตุ้นให้ผู้ล่าออกหาอาหารมากขึ้น
“พวกมันต้องกินมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ความอยากอาหารของพวกมันมีมากขึ้น” Neil Hammerschlag นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยไมอามีกล่าว
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนมีผลต่อสัตว์นักล่าไม่เหมือนกันในแต่ละน่านน้ำ เนื่องจากอุณหภูมิจะแตกต่างกันมากตามละติจูดต่าง ๆ โดยผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่า “ความเข้มของการล่า” จะมีการล่าต่ำในละติจูดที่สูงขึ้น (บริเวณขั้วโลก) และเด่นชัดกว่าในพื้นที่น้ำอุ่นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่ในขณะที่ทะเลดูดซับความร้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การล่าในละติจูดสูงก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น อาร์กติกที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการเข้าไปล่าอาหารมีมากขึ้น
ทดสอบอย่างไร?
การศึกษาใหม่นี้ได้ทำการสังเกตการล่าในบริเวณ 36 แห่งในชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่อะแลสกาไปจนถึงอเมริกาใต้ อุณหภูมิทางทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกไม่เสถียร และระบบนิเวศทางทะเลที่กระจัดกระจาย ในขณะที่สารคดี Our Planet ของ David Attenborough จับภาพไว้อย่างชัดเจน ว่ามหาสมุทรที่อุ่นขึ้นได้ดึงสาหร่ายออกจากแนวปะการังและทำให้พวกมันเกิดการฟอกขาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การทำประมงเกินขนาดเริ่มมาจากไหน ทำความเข้าใจ วิกฤตอาหารทะเล Overfishing
อาจารย์ธรณ์ประกาศข่าวดี โลมาอิรวดีกำลังได้เป็นสัตว์สงวนแห่งชาติแล้ว
ผลสำรวจทะเลตรัง พบ "สัตว์ทะเลหายาก" พะยูน โลมา เต่า อุดมสมบูรณ์
รู้จักปลากระเบนราหู หรือ Manta Rays สัตว์ใหญ่น่ารักแห่งท้องทะเลลึก
ประกอบกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนมีอิทธิพลต่อวิธีการล่าที่นักล่าเดินทางข้ามมหาสมุทรเพื่อหาอาหาร โดยการสังเกตฉลามเสือ ซึ่งเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Global Change Biology เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นรูปแบบที่น่าสนใจ คือ น่านน้ำใกล้ขั้วโลก (ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ) อุ่นขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าปกติมาก สิ่งนี้ทำให้ฉลามเสือขยายขอบเขตการล่าและเคลื่อนตัวไปทางเหนือเส้นศูนย์สูตร ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณและพื้นที่ที่ฉลามล่าและการกินอาหาร
“ฉลามเสือ หากตอนนี้พวกมันใช้เวลามากขึ้นในพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน พวกมันจะเพิ่มความกดดันจากบนลงล่างต่อใยอาหารนั้น”
หรือกล่าวคือ ฉลามเสือ เมื่อต้องการหาอาหารมากขึ้นเพื่อเผาผลาญร่างกายอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น มันจะว่ายข้ามเขตแดนไปยังถิ่นอื่น ๆ ทำให้ปลาท้องถิ่นเริ่มหวาดกลัวการล่าของมัน เพิ่มความกดดันแก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แจะเพิ่มระดับความกดดันในห่วงโซ่อาหารที่รองจากพวกมันมากขึ้นไปอีก
ในอนาคตจะทำอย่างไรต่อไปดี
ทีมงานของ Ashton ไม่สามารถระบุสัตว์นักล่าเกือบทุกสายพันธุ์ที่มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการศึกษาเดี่ยวนี้ แต่ในอนาคต แอสตันและทีมของเธอวางแผนที่จะค้นคว้าว่าเหยื่อตัวใดได้รับผลกระทบจากนักล่าผู้หิวโหยเหล่านี้มากที่สุด
ยังเป็นที่ไม่แน่นอนว่า นักล่าที่ต้องการพลังงานเพิ่มและหิวกระหายเหล่านี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ล่าเองหรือต่อเหยื่อในระยะยาวมากขนาดไหน และอย่างไร เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ยังเข้ามามีบทบาทอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการประมงที่ยังคงมุ่งเป้าล่าปลาผู้ล่า ซึ่งหมายความว่าบางภูมิภาคของมหาสมุทรยังคงปลอดภัยจากความกระหายเหล่านี้ ทั้งเหยื่อเองและจากภาวะโลกร้อน
แต่หลักฐานที่พบนี้ก็บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นมีผลต่อพฤติกรรมสัตว์ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้ล่าบ้าคลั่งได้ง่าย ๆ โดยในมุมผู้เขียนเองมองเรื่องนี้ว่า การเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มีความจำเป็นที่เราต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างใกล้ชิดแม้จะดูเหมือนเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในอนาคตหากยังเกิดต่อเรื่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของมนุษย์ได้
มนุษย์อาจขาดแคลนอาหารทะเลเนื่องจากมีการล่ากันเองของสัตว์มากขึ้น สัตว์น้อยใหญ่ทางเศรษฐกิจอาจเริ่มเปลี่ยนทิศหรือพฤติกรรมเพื่อหลบซ่อนนักล่ามากขึ้น ตามสัญชาตญาณการปรับตัวทางธรรมชาติ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารของมนุษย์ และมีความรุนแรงเทียบเท่ากับการประมงเกินขนาดที่มนุษย์กำลังดำเนินการอยู่ในทุกวันนี้
ที่มาข้อมูล
https://mashable.com/article/ocean-warming-predation-climate-change
https://www.science.org/doi/10.1126/science.abc4916