"กอบศักดิ์ ภูตระกูล" เตือนรับมือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่ (Perfect Storm) จากปัญหาที่ก่อตัวพร้อมกันใน 3 ทวีป นำไปสู่วิกฤตครั้งสำคัญ ราคาพลังงาน- วิกฤติอาหารโลก- ตลาดเงินโลกผันผวน และเศรษฐกิจถดถอย
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool เตือนรับมือ มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ ความท้าทายของเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในรอบ 80 ปี โดยระบุว่า
Perfect Storm !!! คำที่ไม่อยากพูดถึง
แต่จากสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น คงยากที่จะหลีกเลี่ยง และเราคงต้องยอมรับความจริง เพื่อจะได้เตรียมการรับมืออย่างเหมาะสม
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว MD หรือ กรรมการผู้จัดการของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกมาพูดที่ World Economic Forum ว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ท้าทายที่สุด นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ถ้านับไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ ท้าทายสุดในรอบ 80 ปี !!!
สอดรับกับผู้นำขององค์กรระดับโลกต่างๆ เช่น UNCTAD องค์การการค้าโลก สถาบันการเงิน นักวิชาการชั้นนำของโลก ที่ออกมาเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า มรสุมเศรษฐกิจกำลังก่อตัว Perfect Storm กำลังมา เรากำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของเศรษฐกิจ ที่ไม่ง่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เปิดคำทำนาย “เศรษฐกิจไทย” จากนี้ไป..สินค้า น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น รับมือไงดี ?
• ปี2565 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ชะตากรรมชีวิต ปากท้องผู้คน จะเป็นอย่างไร ?
• ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกปี 2022 “โควิด-อาหาร-การเมือง” ยังเป็นปัจจัยท้าทาย
มรสุมลูกนี้ เริ่มจาก 3 ทวีป
ทวีปยุโรป สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้นำไปสู่
• วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ (Geopolitical Crisis) ที่อะไรก็เกิดได้ ถ้ายังไม่ยอมหยุดกัน ซึ่งปัญหานี้กำลังยกระดับขึ้นเป็นการแบ่งขั้วทางการเมือง ตลอดจนการแยกส่วนของระบบเศรษฐกิจโลก ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
• วิกฤตราคาพลังงาน ที่ราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาเรล กดดันให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศต่างๆ อย่างในไทย เราเริ่มเห็นราคาน้ำมันที่ 50 บาท/ลิตรแล้ว
• วิกฤตอาหารโลก ที่กระทบคนนับเป็นร้อยล้านคน และอาจนำไปสู่การประท้วง รวมถึงวิกฤตเชิงสังคมและการเมืองในประเทศต่างๆ
ทวีปอเมริกา จากความผิดพลาดของเฟด ในการประเมินผลกระทบจากโควิด ทำให้เฟดมือหนัก ใส่ยากระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปมากกว่าควร ทั้งในเรื่องดอกเบี้ยและในเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงมีปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อ จนต้องมาวิ่งไล่ปัญหาอยู่ในขณะนี้ นำไปสู่
• วิกฤตความผันผวนในตลาดการเงินโลก ที่หลายเดือนที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ผันผวนแปรปรวน เหวี่ยงไปมา ทั้งในส่วนของ ราคาหลักทรัพย์ พันธบัตร คริปโต ค่าเงิน ทำให้ฟองสบู่ที่พองขึ้นมากในช่วงโควิด ยุบตัวลงมา สร้างความเสียหายให้กับทุกคน อย่างกว้างขวาง
• โอกาสที่จะเกิด Recession ในสหรัฐและประเทศต่างๆ ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากดอกเบี้ยของเฟดที่จะต้องขึ้นไป จนสูงพอที่จะปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด และยิ่งวิกฤตในยุโรปไม่ยอมจบ หรือลุกลาม ปัญหาเงินเฟ้อก็จะยิ่งยืดเยื้อ และทำให้เฟดต้องใช้ยาแรงยิ่งขึ้น
• โอกาสการเกิด Emerging Market Crisis ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่ในขณะนี้ เราเริ่มเห็นประเทศเล็กๆ ซึ่งอ่อนแอ เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน กำลังเผชิญกับวิกฤต และปัญหานี้กำลังลุกลามไปทดสอบประเทศอื่นๆ เช่น เนปาล จากการที่นักลงทุนพยายามหาว่า "ใครจะเป็นรายต่อไป" โดยทั้งหมดเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ เฟดเพิ่งจะเริ่มการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง และยังไม่ได้ดึงสภาพคล่องกลับ
ทวีปเอเชีย จากจีนที่มีปัญหาความเปราะบางจากฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมตัวมาเป็นเวลาหลายสิบปี และเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มต้นจาก Evergrande และลุกลามไปบริษัทอื่นๆ ทำให้จีนต้องเข้าสู่โหมด Clean up ที่จะต้องใช้เวลา 1-2 ปี ในการจัดการให้ทุกอย่างเข้าที
ปัญหานี้ทำให้เศรษฐกิจจีน ซึ่งปกติจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเศรษฐกิจโลก ชะลอตัวลงมาก (กระทบต่อการขยายตัวของโลก ของสหรัฐ และของทุกคน ในช่วงที่ทุกคนอ่อนแอ) ทั้งยังมีโอกาสที่จะลุกลามบานปลาย กลายเป็นวิกฤตเต็มรูปแบบในจีนได้ หากจัดการไม่ดี
พร้อมกันนั้น การต่อสู้กับโควิดของจีน โดยใช้นโยบายที่เข้มงวด ทยอยปิดเมืองสำคัญต่างๆ เพื่อให้บรรลุถึงนโยบาย Zero-Covid กำลังกระทบต่อการนำเข้า การส่งออก และห่วงโซ่การผลิตของโลก อย่างมีนัยยะสำคัญ
ปัญหาในสามทวีปนี้ กำลังซ้ำเสริมซึ่งกันและกัน เหมือนกับพายุไต้ฝุ่น/พายุเฮอริเคน 3 ลูกที่กำลังผสานกันเป็นเนื้อเดียว นำไปสู่ Perfect Storm ที่อยู่ข้างหน้าเราในขณะนี้
ส่วนควรเตรียมการรับมือกับมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่นี้อย่างไร ทำอย่างไรจะผ่าน Perfect Storm ลูกนี้ไปได้ มีโอกาสในวิกฤตอยู่ที่ตรงไหน มาตามกันต่อในตอนต่อไป
ที่มา : Kobsak Pootrakool