มาตรการคว่ำบาตรจะกดดันรัสเซียได้หรือไม่ ? หลังจากรัสเซียแก้เกมด้วยการประกาศขายก๊าซกับน้ำมัน เป็นเงินรูเบิล ทำให้ค่าเงินรัสเซียดีดกลับมาอยู่ในอัตราเดิม ก่อนถูกคว่ำบาตร
สงครามรัสเซีย - ยูเครน ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาว่าจะลงเอยอย่างไร แต่ในสงครามเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และประเทศในยุโรปตะวันตกคว่ำบาตร เพื่อกดดันรัสเซียให้ถอนทหารออกจากยูเครน โดยช่วงแรกๆ ของมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งลงในเวลาอันรวดเร็วไปกว่า 150 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่แล้วเมื่อไม่นานมานี้ ค่าเงินรูเบิลก็สามารถดีดกลับมาอยู่ที่ประมาณ 80 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราก่อนถูกคว่ำบาตร ก็สะท้อนให้เห็นว่า การถล่มรัสเซียในสนามเศรษฐกิจนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด ได้อธิบายถึงการแก้เกมเศรษฐกิจของรัสเซีย ในรายการสุดกับหมาแก่ ดังต่อไปนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จัก นาโต้ คือใคร ทำไมเป็นปัจจัยแห่งความขัดแย้ง รัสเซีย – ยูเครน
รัสเซียทำอย่างไร ค่าเงินรูเบิลจึงดีดกลับมาอยู่ในระดับก่อนถูกคว่ำบาตรได้
ดร.อมรเทพ จาวะลา อธิบายว่า พอเริ่มมีการคว่ำบาตร ไม่มีการซื้อสินค้าจากรัสเซีย ก็ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียถดถอย เงินรูเบิลอ่อนค่า และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะเข้าสู่วิกฤตอันใกล้ เพราะไม่มีใครเชื่อถือเงินรูเบิล
โดยรัสเซียถูกตัดออกจากระบบสวิฟต์ (Swift) เงินสำรองของรัสเซีย 6 แสนล้านดอลลาร์อยู่นอกประเทศไม่สามารถนำมาใช้ได้ รวมถึงทองคำที่ถือไว้เยอะ ก็นำมาใช้ไม่ได้เช่นกัน
แต่สาเหตุที่เงินรูเบิลกลับมาอยู่ที่อัตราเดิม ก่อนถูกคว่ำบาตรนั้น ดร.อมรเทพ จาวะลา วิเคราะห์ว่าไม่ใช่กลไกตลาดปกติ โดยมี 3 สาเหตุ ดังต่อไปนี้
3 สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินรูเบิลแข็งขึ้น
1. ขึ้นดอกเบี้ย
รัสเซียขึ้นดอกเบี้ยเป็น 20 % (จาก 9.5 %) เพื่อดึงดูดความสนใจไม่ให้มีการนำเงินรูเบิลไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ
2. ขึ้นค่าธรรมเนียมการแลกเงินตราต่างประเทศ
ขึ้นค่าธรรมเนียมในการนำเงินรูเบิลไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ 30 %
3. ขายก๊าซและน้ำมัน เป็นเงินรูเบิล
ประเทศยุโรปมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการซื้อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย จึงทำให้สินค้าด้านพลังงานของรัสเซียไม่ถูกคว่ำบาตร ซึ่งก่อนหน้านั้น จะมีการซื้อขายกันเป็นเงินยูโร แต่พอรัสเซียถูกคว่ำบาตร ค่าเงินรูเบิลดิ่งหนัก รัสเซียจึงออกประกาศซื้อขายก๊าซและน้ำมันเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น ทำให้เกิดความต้องการเงินรูเบิลในตลาด ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลดีดกลับไปอยู่ในอัตราเดิม ก่อนรัสเซียถูกคว่ำบาตรได้ในที่สุด
การขายก๊าซ น้ำมัน เป็นเงินรูเบิลเท่านั้น คือปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้น ?
ดร.อมรเทพ จาวะลา อธิบายต่อไปว่า จากทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือการประกาศขายก๊าซและน้ำมันเป็นเงินรูเบิล ที่ทำให้ค่าเงินรัสเซียแข็งค่าขึ้น เพราะ 70 % ของยุโรปต้องนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย โดยเฉพาะเยอรมนี ต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียถึง 50 %
“ดังนั้นเมื่อรัสเซียต้องการเงิน ยุโรปต้องการก๊าซ เมื่อสองความต้องการนี้มาชนกัน ทำให้เกิดภาพเสมือนจริงที่เงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นมา แต่เหตุการณ์นี้จะดำเนินต่อไปได้นานแค่ไหน จะเป็นเพียงระยะสั้นหรือระยะยาว ก็ต้องติดตามกันต่อไป”
ดร.อมรเทพ จาวะลา วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หาทางออกแก้วิกฤตค่าเงินรูเบิลได้ ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากคุณสมบัติในการเป็นนักเจรจา ซึ่งหลักในเจรจาให้ประสบความสำเร็จ ต้อง Win Win มีทางถอยให้อีกฝ่าย และได้ประโยชน์ร่วมกัน
และจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ทางฝั่งยุโรปตะวันตกก็ไม่ถึงขั้นต้องการเอาเป็นเอาตายกับรัสเซียในสนามเศรษฐกิจ แม้ที่ผ่านมาได้ตัดช่องทางการค้าขาย ตัดรัสเซียออกจากระบบสวิฟต์ (Swift) แต่ก็มีการเตรียมทางถอยให้กับรัสเซียและตัวเองเช่นกัน ในเรื่องก๊าซกับน้ำมัน
ดร.อมรเทพ จาวะลา กล่าวว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเพียงระยะสั้น เพราะยิ่งราคาน้ำมันสูง รัสเซียก็ยิ่งมีรายได้ ดังนั้นถ้าเอาเป็นเอาตายด้านเศรษฐกิจกับรัสเซียในวันนี้ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงแน่ เพราะยังมีความจำเป็นต้องซื้อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียอยู่ แต่เชื่อว่าในระยะยาวประเทศในยุโรปตะวันตกได้หาวิธีที่ไม่ต้องพึ่งพารัสเซียด้านพลังงาน ถึงแม้ยังไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้ แต่ก็เกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคต
ติดตามรายการสุดกับหมาแก่ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ดำเนินรายการ เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 21.30 น. ทาง Facebook : SpringNews , YouTube : Spring เเละ Nation TV 22