สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" ทำราคาน้ำมัน-พลังงานโลกปั่นป่วนได้อย่างไร ? หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปะทุ ส่งผลกับไทยแค่ไหน ? ขณะที่ยุโรปที่ขู่จะแบนพลังงานของรัสเซีย ทำได้จริงแค่ไหน ?
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายหัวข้อ "สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" กับพลังงานโลก" ระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญทางด้านพลังงาน ซึ่งรัสเซียเองสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน(ก่อนสงคราม) รองจากสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตได้วันละ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็คิดเป็นปริมาณน้ำมัน 11% ของความต้องการทั่วโลก เพราะโลกเราปัจจุบันบริโภคน้ำมันราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลหลังจากที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการพิเศษโจมตียูเครนการผลิตน้ำมันของรัสเซียก็ลดลงเหลือ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เม.ย.65)
อ่าน : น้ำมันแพง ! สะเทือนอะไร ใครบ้าง ? หรือจะซ้ำเติมกระทบโควิด-19 หนักไปอีก
น้ำมันรัสเซียลด แต่โอเปกไม่ผลิตน้ำมันเพิ่ม ราคาจึงสูง
แม้ที่ผ่านมาหลังจากการสู้รบกันระหว่างสองประเทศจะยังไม่มีประเทศไหนคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย 100% แต่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ลดปริมาณการใช้น้ำมันจากรัสเซียลงเพราะมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินที่ยากขึ้น ประกอบกับจุดยืนเพื่อต่อต้านสงครามของประเทศต่าง ๆ
ขณะเดียวกันแม้รัสเซียจะไม่ได้ลดจำนวนการผลิตลงมากนักแต่หลังจากการรุกรานของรัสเซียจะเห็นได้ว่าส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็ไม่ได้มาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียเพียงอย่างเดียว แต่เพราะประเทศผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มโอเปกก็ไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำมันที่หายไปด้วย
เพราะก่อนหน้านี้ กลุ่มประเทศโอเปกร่วมมือกับแกนนำการผลิตน้ำมันอย่างรัสเซีย ในชื่อ โอเปกพลัส ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นกำลังการผลิต 40% ของโลกได้พยายามจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันให้อยู่ในจุดที่เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามที่ต้องการ แบบที่ไม่ต่ำจนเกินไป และ ไม่สูงจนเกินไป ตั้งแต่ปี 2017 โดยช่วงที่กลุ่มนี้มีบทบาทมากขึ้นนั่นก็คือช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการจำกัดการผลิตน้ำมันเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันตกต่ำไปมากกว่าเดิม
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำไมยุโรปไม่คว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียเสียที ?
จากข้อมูลพบว่าประเทศในทวีปยุโรปใช้น้ำมันที่นำเข้าจากรัสเซียอยู่ที่ราว 25-35 % ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 45% และถ่านหิน 45% ซึ่งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกภาคส่วน เพราะราคาพลังงาน ก็เป็นต้นทุนในการผลิต
การคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียจะทำให้ยุโรปต้องนำเข้าพลังงานจากที่อื่น ซึ่งใช้ค่าขนส่งสูงกว่า และประกอบกับวัตุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตก็มาจากรัสเซีย ดังนั้นหากคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบแทบทุกประเภทสินค้า
ถ้าดูตามโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยุโรปจะพบว่ามีท่อส่งน้ำมันและก๊าสธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคโดยต้นทางส่วนใหญ่มาจากรัสเซีย และประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยังมีการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอยู่บางประเทศสูงถึง 90% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ภายในประเทศ
แม้หากประเทศในยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียก็ยังพอที่จะหาน้ำมันจากภูมิภาคอื่นและส่งเข้ามาในภูมิภาคผ่านทางเรือได้ แต่ก๊าซธรรมชาติกลับเป็นเรื่องที่ยากกว่าเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงหากขนส่งผ่านทางเรือ
ในส่วนของปริมาณการบริโภคก๊าซธรรมชาติของยุโรปจะพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอยู่ที่ 37% และนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่แปรรูปเป็นของเหลวแล้วหรือ LNG อยู่ที่ 23%
โดยหลังจากการรุกรานของรัสเซียมีการลดการนำเข้าจากรัสเซียลงมาอยู่ที่ 25% และนำเข้า LNG มาอยู่ที่ 36% อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการนำเข้า LNG ถูกจำกัดไว้ด้วย โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่รองรับการนำเข้า เช่น ท่าเรือ และท่อส่งก๊าซ อยู่ที่ราว 40% เท่านั้น ดังนั้นการคว่ำบาตรก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
ขณะเดียวกันหากประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปต้องการที่จะคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย 100% บางประเทศจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่น ๆ หรือภูมิภาคอื่น ๆ และไม่สามารถทำได้ทันที
มองดูโลกย้อนมองเรา
สำหรับประเทศไทยเอง ไม่ได้นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเป็นหลัก แม้ว่าในช่วงนี้น้ำมันดิบรัสเซียจะมีราคาค่อนข้างต่ำ นายดิษทัต มองว่า นอกจากปัจจัยด้านราคาแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของน้ำมันและท่าทีทางการเมืองที่เหมาะสมอีกด้วยเช่นเดียวกับที่เกาหลีกับญี่ปุ่นเองได้ประกาศแล้วว่าจะไม่รับน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง
ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเป็นหลักเนื่องจากมีแผนในการกระจายความเสี่ยงทางด้านพลังงาน ทั้งนี้ เมื่อประเทศแหล่งนำเข้าใดประสบปัญหา ไทยจะมีน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ สำรองเพื่อรองรับต่อการใช้งานของประเทศ