นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯยืนยัน เป็นการประชุมที่มีประโยชน์ ต่อไทย ขอทุกคน ช่วยกันรักษาบ้านเมืองในช่วง เลือกตั้งผู้ว่ากทม.ให้สงบเรียบร้อยเพื่อส่งสัญญาณว่าไทยสามารถเป็นศูนย์กลางให้ทุกชาติมาใช้ประชุมหารือแก้ปัญหาได้
เวลา 06.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ หลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ (ASEAN - U.S. Special Summit) 12 - 13 พ.ค.2565 ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาและถือเป็นโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากมายไม่ได้มีปัญหาอะไรอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์ ขออย่ากังวล ยืนยันรัฐบาลไม่เคยหยุดนิ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือเรื่องเศรษฐกิจมองไปข้างหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์และคำนึงว่าจะเดินหน้าประเทศไทยยังทิศทางใด และจะร่วมมือกับใครยืนยันไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ
แต่สิ่งสำคัญคือประเทศไทยจะต้องสงบเรียบร้อย ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ที่ปลอดภัยและมีความสงบสุข และเป็นแกนกลางของอาเซียน เพราะตนอยากให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ทุกคนก็อยากมา ใช้เป็นเวทีพูดคุยในการแก้ปัญหาในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องรักษาสิ่งที่มีอยู่ในวันนี้ให้ได้ตลอดไป
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ จะทำยังไงให้เกิดโอกาสในการทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เราอยากทำวิกฤตให้เป็นวิกฤตไปมากกว่า โดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งในช่วงนี้เป็นเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ด้วย ก็หวังอย่างยิ่งว่าบ้านเมืองจะเรียบร้อย ไม่เช่นนั้นทุกอย่างที่ทำมาจะสูญเปล่าหมดขอให้แยกแยะและดูแลกันให้ดี เรื่องใดที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ก็อย่าทำให้มันเกิดเป็นเรื่อง
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
อาเซียนหลังโควิด-19
โดยการประชุมได้มีการเน้นย้ำอยู่ 3 ประการ คือ ส่งเสริมให้สหรัฐมีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาคโดยการทำงานร่วมกับอาเซียนสร้างบรรยากาศความร่วมมือ ความไว้วางใจและเคารพซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ได้ให้การสนับสนันดูแลด้านสุขภาพของไทยเช่นวัคซีนโควิด-19 และการร่วมมือกันนำพาประเทศและโลกของเราไปสู่ยุค Next normal อย่างยั่งยืนและมั่นคงรวมทั้งความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนนโยบายในหลายๆ อย่างเช่นสันติภาพในโลกที่ผู้นำในแต่ละประเทศก็แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไรเกิดขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ภายใต้ความร่วมมือที่เป็นรูปประธรรม ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ โดยเฉพาะความมั่นคงด้านสาธารณสุขพลังงาน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล การพัฒนามนุษย์
เพื่อให้หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างเรามีความเข้มแข็งและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นสนับสนุนการฟื้นฟูหลัง covid-19 อย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้นั้น ได้ถือโอกาสเชิญชวนประธานาธิบดีสหรัฐ เข้าร่วมการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจ ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งมองว่าเป็น เวทีสำคัญที่ไทยจะผลักดันสร้างเสริมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มองหาความร่วมมือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ นายกรัฐมนตรี เล่าว่า ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการเดินตามเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ของเราต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ในช่วงสุดท้ายของการประชุมใหญ่ ตนเองได้ฝากเอาไว้ว่าเราทุกคน ในบทบาทของประชาคมโลกทุกประเทศ จะต้องมองกันไปข้างหน้า และ จะต้องเจอความท้าทายอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
วิกฤตการณ์ที่สำคัญในวันนี้ คือเรื่องพลังงานเรื่องสินค้าขาดแคลน ความยากจน ที่มีความแตกต่างกันที่จะต้องช่วยกันเร่งแก้ไขตามหลักการอยู่รอดปลอดภัยพอเพียง นำไปสู่ความยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของคนไทยและโลกไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เศรษฐกิจ-ปากท้อง กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนเองได้มีการเสนอด้านมนุษยธรรมในที่เกี่ยวข้องกับสงครามที่เกิดขึ้น ความเสียหายที่จะต้องช่วยกันดูแล รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่เสนอการฟื้นฟูระหว่างไทย-สหรัฐฯให้ดีมากยิ่งขึ้นเนื่องจากไทยเป็นแกนกลางอาเซียนและจะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของสหรัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอัจฉริยะ
อีกทั้งยังได้หารือกับนักลงทุนในต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงของการลงทุนใหม่ในหลายประเทศซึ่งไทยมีโอกาสในตรงนี้มาก ทั้งนี้ทราบว่าจะมีการนำนักธุรกิจรายใหญ่ของโลกมาเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนโดยใช้ไทยเป็นฐานในปี2566ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ยังได้มีโอกาสพบปะหารือกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ , ผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ และภาคธุรกิจสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ร่วมกันอนาคตระหว่างสหรัฐและอาเซียน รวมไปถึงได้มีโอกาสพบปะกับประชาชนคนไทยในสหรัฐซึ่งได้มีการทักทายและสอบถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งทุกคนก็มีความสุขรวมทั้งตนเองก็ได้เล่าให้ฟังด้วยว่าตอนนี้ประเทศไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอะไรไปแล้วบ้าง
และเนื่องในวันวิสาขบูชา นายกรัฐมนตรีอวยพรคนไทยให้พระคุ้มครอง ยึดมั่นทำความดีและมีความสุข