svasdssvasds

ย้อนเรื่องราวของ “เอ้ สุชัชวีร์” ในวันแรกที่ฝันจะเป็น “ผู้ว่า กทม.”

ย้อนเรื่องราวของ “เอ้ สุชัชวีร์” ในวันแรกที่ฝันจะเป็น “ผู้ว่า กทม.”

ย้อนดูจุดเริ่มต้นที่จุดชนวนให้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตัดสินใจเดินบนถนนสายการเมืองกับการท้าชิง “ผู้ว่าฯ กทม.” ตำแหน่งที่เขาใฝ่ฝันมากว่า 3 ทศวรรษ

ณ นาทีนี้คนกรุงเทพฯ กำลังนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การแข่งขันเข้มข้นขึ้นทุกขณะ เมื่อกางบัญชีผู้สมัครที่ตบเท้าเข้ามาสมัครในหนนี้มีถึง 30 รายชื่อ หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อของ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “เอ้” อดีตอธิการบดี สจล. ร่วมแข่งขันอยู่ด้วย

เห็นกันในวันนี้แล้วว่าเส้นทางจาก “พี่เอ้” สู่ “ผู้ว่าฯ เอ้” ไม่ง่ายและท้าทายยิ่ง วันนี้เราจะมาย้อนดูจุดเริ่มต้นที่จุดชนวนให้ชายผู้นี้ตัดสินใจเดินบนถนนสายการเมืองกับการท้าชิง “ผู้ว่าฯ กทม.” ตำแหน่งที่เขาใฝ่ฝันมากว่า 3 ทศวรรษ...

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

ฝันเริ่มก่อที่ กทม.

ย้อนรอยถอยกลับไปในวัยเรียน สุชัชวีร์ เป็นนักเรียนจากโรงเรียนระยองวิทยาคม ที่มีผลการเรียนดี สอบได้ที่ 1 ของโรงเรียนและจังหวัด ทำให้ได้รับทุนโควตาช้างเผือกเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ “ร่มรั้วชงโค” หรือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากวันนั้นเขาจึงต้องหอบความฝันจากบ้านที่ระยอง เข้ามาเรียนในรั้วลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

ชีวิตในเมืองหลวงไม่ง่ายนัก เขาต้องเผชิญกับปัญหาของกรุงเทพมหานครมากมาย โดยเฉพาะปัญหาการจราจรติดขัด การเดินทางไปเรียนที่ลาดกระบังในแต่ละครั้งต้องโหนรถเมล์ฝ่ารถติดไป-กลับ 4-5 ชั่วโมง จากการมีประสบการณ์ตรงกับปัญหาเดิม ๆ ที่ต้องเจอในทุกวัน ทำให้ฝันอันยิ่งใหญ่เริ่มก่อตัว สุชัชวีร์ ในวัย 20 ต้น ๆ เริ่มคิดถึงการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงเมืองกรุงให้ดียิ่งขึ้น

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

โปรเจกต์นี้…เพื่อกรุงเทพฯ

ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ เป็นแรงบันดาลใจให้สุชัชวีร์ริเริ่มทำโครงการวิจัย “วิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย” แม้ในวันนั้นประเทศไทยจะยังไม่มีรถไฟฟ้าใต้ดินเลยก็ตาม

เบื้องหลังของโครงการดังกล่าว เขาต้องทุ่มเทสรรพกำลังและความอุตสาหะอย่างสูงเพื่อโปรเจกต์นี้ ด้วยตำราความรู้ในลาดกระบังในสมัยนั้นมีไม่เพียงพอกับสิ่งที่เขาจะทำ จึงต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งมีตำราวิศวกรรมภาษาอังกฤษมากที่สุดในเวลานั้น เทียวไปเทียวมาลาดกระบัง-รังสิตหลายสัปดาห์ จนสามารถเขียนโปรแกรมวิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทยได้สำเร็จ

กระนั้น สุชัชวีร์ไม่ได้ทำโครงการวิจัยนี้เพื่อเพียงส่งอาจารย์ แต่ต้องการให้วิจัยดังกล่าวมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ได้จริง จึงมุ่งหน้าไปศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมหิ้วโปรเจกต์ที่ทำไปด้วย เพื่อขอเข้าพบร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4

ได้เข้าพบผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อมาถึงศาลาว่าการที่เสาชิงช้า สุชัชวีร์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าพบผู้ว่าฯ แต่รอเช้าจนเย็นก็ยังไม่ได้พบ แม้จะได้รับข้อเสนอให้ฝากผลงานไว้ แล้วเจ้าหน้าที่จะนำส่งผู้ว่าฯ ให้ แต่เขายืนยันจะส่งมอบโครงการนี้ให้ถึงมือ ร.อ.กฤษฎาด้วยตัวเอง ทำให้สุชัชวีร์ต้องไปนั่งรอที่ศาลาว่าการ กทม. เกือบ 2 สัปดาห์

การรอเก้อครั้งแล้วครั้งเล่าสิ้นสุดลงเมื่อเขาได้รับเงื่อนไขว่า ให้มาพร้อมกับคณบดีแล้วจะได้เข้าพบผู้ว่าฯ สุชัชวีร์ ตะบึงกลับไปที่ลาดกระบังและแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาจราจรให้รองศาสตราจารย์ ดร.ประกิจ ตังติสานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในเวลานั้นฟัง จนที่สุดแล้ว สุชัชวีร์ก็สามารถเชิญคณบดีไปพบผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ

สุชัชวีร์ กลับมาเยือนเสาชิงช้าอีกครั้งพร้อมกับคณบดี และได้มอบโครงการชิ้นสำคัญในชีวิตถึงมือผู้ว่าฯ เขาใช้โอกาสนี้กล่าวกับพ่อเมืองกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นว่า ประเทศไทยต้องมีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ยังไม่มีคนไทยที่เรียนจบด้านวิศวกรรมอุโมงค์ เขาจะขออาสาเป็นคนไทยคนแรกไปศึกษาต่อวิทยาการด้านนี้ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ซึ่ง ร.อ.กฤษฎาเป็นศิษย์เก่า เพื่อกลับมาก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินในไทยให้สำเร็จ

นอกจากได้ส่งมอบโครงการวิจัยตามที่หวังแล้ว สุชัชวีร์ ยังได้รับจดหมายรับรอง (Letter of Recommendation) จาก ร.อ.กฤษฎา ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และศิษย์เก่าสำนัก MIT เพื่อใช้ในการสมัครเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่เขาใฝ่ฝัน ซึ่งจดหมายนี้มีส่วนให้สุชัชวีร์ได้เข้าไปเรียนที่ MIT ด้วย

กว่า 30 ปีจากวันแรกที่ สุชัชวีร์ ฝันถึงการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ เขาพัฒนาตัวเอง เพาะบ่มประสบการณ์จนกลายเป็นดุษฎีบัณฑิตจาก MIT เป็นคนไทยที่ร่วมก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในมาตุภูมิได้สำเร็จ มีชื่อจารึกไว้บนสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง เป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรม เป็นนายกสภาวิศวกร จนถึงเป็นอธิการบดี

จุดเริ่มต้นจนจุดนี้ จากวันนั้นเขาเป็นนักศึกษาที่ขอเข้าพบผู้ว่าฯ เสนอทางแก้ปัญหาจราจร ถึงวันนี้เขาเป็นแคนดิเดตที่ขอโอกาสเป็นผู้ว่าฯ เสนอวิสัยทัศน์และนโยบาย หวังแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และพัฒนาเมืองหลวงแห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้น

“ผมตั้งใจ ผมเตรียมพร้อมมา 30 ปี ขออาสาเป็นตัวแทนคนกรุงเทพฯ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ผมขอเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมเดินทางแห่งความหวังครั้งสำคัญครั้งนี้ เพื่ออนาคตลูกหลานเรา เราจะคืนรอยยิ้มให้คนกรุงเทพฯ” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, 13 ธ.ค. 2564

บทความเกี่ยวกับสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

related