บทบาทของ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ในการเป็นแนวร่วมสู้กับโควิด มหาวิกฤตโรคระบาด อย่างถึงลูกถึงคน
นับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกบนแผ่นดินไทย ถึงวันนี้ก็กว่า 2 ปีแล้วที่สังคมไทยต้องกรำศึกกับวิกฤติโรคระบาด การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลจนเกิดคำว่า “New Normal” ตลอดช่วงเวลาของวิกฤติเชื้อโรค ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ พี่เอ้ เป็นหนึ่งในแนวร่วมที่มีบทบาทในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเสมอ แล้วอดีตอธิการบดีผู้นี้ทำอะไรไปบ้าง...
“ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล.”
เมื่อวัคซีนเป็นหัวใจในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค สจล. ในการบริหารงานของอธิการบดีพี่เอ้ จัดตั้ง ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล. ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนวันละ 1,000 โดสให้กับนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษาและกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสาธารณะในพื้นที่ สจล. และบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้สามารถกลับมาทำการเรียนการสอนได้อย่างปกติ
ลงขันช่วยเหลือนักศึกษา
พี่เอ้ และเหล่าผู้บริหารพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังทุกระดับ ตั้งแต่อธิการบดีถึงผู้อำนวยการสำนักงานร่วมใจบริจาคเงินเดือนส่วนตัวเข้ากองทุนการศึกษาของ สจล. เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนการศึกษา สจล. ดำเนินการช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด-19
บรรเทาความเดือดร้อนชาว สจล.
สถานการณ์ของโรคระบาดที่หนักหน่วงทำให้นักศึกษาและประชาชนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า สุชัชวีร์ และ สจล. ออกมาตรการช่วยเหลือนักศึกษากว่า 14 มาตรการ เช่น การลดค่าเทอม การให้ทุนการศึกษา บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต รวมถึงจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ ทั้งกองทุนช่วยเหลือนักศึกษา กองทุนจ้างงานบัณฑิตใหม่ของสถาบัน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาและผู้ปกครอง
ก่อตั้งศูนย์รวมนวัตกรรม สจล.
อนาคตที่ควรจะเป็นของสาธารณสุขไทยในทัศนวิสัยของ ดร.สุชัชวีร์ คือ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” สจล. ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีการจัดตั้ง ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดยใช้งบประมาณเงินรายได้ที่มีอยู่ในการพัฒนาสถาบันและการรับบริจาค เพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์
ผลสืบเนื่องจากการก่อตั้งนี้ ทำให้สามารถผลิตนวัตกรรมและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งเครื่องช่วยหายใจ หุ่นยนต์ UVC Robot (ฆ่าเชื้อโควิด) หุ่นยนต์ส่งยา ตู้ตรวจเชื้อความดันบวก ตู้ตรวจเชื้อความดันลบ รถตู้เคลื่อนที่ตรวจเชื้อ และนวัตกรรมอีกมากมายจากรั้วลาดกระบัง
ทำให้สามารถส่งมอบเครื่องมือทางการแพทย์ไปได้มากกว่า 800 ชิ้นใน 66 จังหวัดและ 3 ประเทศ ศูนย์รวมนวัตกรรม สจล. จึงเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยต่อสู้และฟันฝ่าภาวะที่สาหัสสากรรจ์ของประชาชนและสังคมไทย
ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน
ในฐานะนายกสภาวิศวกร สุชัชวีร์จับมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหาวิกฤติโควิด-19 ในชุมชนต่าง ๆ ด้วยการมอบถุงยังชีพ และนำวิศวกรอาสาเข้าตรวจสอบและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน กับหมวกอีกใบในฐานะผู้ท้าชิงเก้าอี้เสาชิงช้า สุชัชวีร์ และทีมงานพรรคประชาธิปัตย์ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมกับพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกับคนในพื้นที่
“สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ การสู้กับโควิด-19 อย่างถึงลูกถึงคนมากขึ้น”
เมื่อลุกออกจากเก้าอี้อธิการบดี มุ่งหน้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. สุชัชวีร์ ประกาศอย่างหนักแน่นว่าการแก้ไขปัญหาโควิด-19 คือภารกิจแรกที่ต้องเริ่มทันทีเมื่อได้เป็นพ่อเมือง โดยเสนอแนวทาง ดังนี้
1. เร่งตรวจเชิงรุกในพื้นที่เป้าหมาย ป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่
2. คัดแยกผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง กักตัวเข้มงวดพร้อมไปกับการดูแลความเป็นอยู่ของผู้กักตัว
3. เสริมกำลังอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพิ่มสวัสดิการและเพิ่มอัตรากำลัง
4. ผลักดันให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็ม 3 อย่างทั่วถึง
ในการลงสนามเลือกตั้งหนนี้ สุชัชวีร์ยังมีนโยบายด้านสาธารณสุขอย่าง “หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน” มุ่งพัฒนาโรงพยาบาลสังกัด กทม. และยกระดับศูนย์สาธารณสุขให้เป็นศูนย์การแพทย์ทันสมัย รองรับการรักษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรงของชาวเมืองหลวง
การเติบโตจากเด็กระยองสู่อธิการบดีและการเดินทางจากลาดกระบังถึงเสาชิงช้า สุชัชวีร์ในวัย 50 กะรัต หอบประสบการณ์และวิสัยทัศน์ พร้อมความฝันกว่า 30 ปี เพื่อขันอาสาเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่จะเพียงพอที่จะส่งศิษย์สำนัก สจล. และ MIT ผู้นี้ไปนั่งบริหารกรุงเทพมหานครหรือไม่ “คนเมืองกรุง” จะเป็นผู้ตัดสินใจ
บทบาทที่เกี่ยวข้องกับ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์