คู่มือเลือกผู้ว่าฯ กทม. ฉบับ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมาทำหน้าที่พัฒนาและแก้ปัญหาให้กรุงเทพมหานคร
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แนะนำการเลือกผู้ว่า กทม. ดังต่อไปนี้
ถึงวันนี้มีผู้เสนอตัวสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. หลายราย คงเป็นที่หนักใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่าจะเลือกใครดี เลือกแล้วไม่ผิดหวัง สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้จริง ในฐานะที่ตนเคยมีประสบการณ์ในการบริหาร กทม. ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. มาก่อน ตนจึงถูกสอบถามจากเพื่อนฝูงและคนรู้จักมากมายว่ามีหลักเกณฑ์การเลือกผู้ว่าฯ กทม. อย่างไร ? จึงขอถือโอกาสนี้ตอบผู้ที่สอบถามมา รวมทั้งผู้สนใจ ในรูปแบบคู่มือเลือกผู้ว่าฯ กทม.
1. ผู้สมัคร
1.1 ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และภูมิหลัง
ผู้ว่าฯ กทม. จำเป็นจะต้องเข้าใจปัญหาของกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี และจะต้องมีความรู้ความสามารถที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นรวมทั้งจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยวได้ หากได้คนที่มีประสบการณ์การบริหารเมืองใหญ่หรือองค์กรขนาดใหญ่ หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองมาแล้วก็ยิ่งดี
ที่สำคัญ ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องไม่มีภูมิหลังหรือประวัติด่างพร้อย ปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เราสามารถตรวจสอบภูมิหลังของผู้สมัครได้ไม่ยาก จะทำให้รู้ได้ว่า “ใครเป็นของจริง” หรือ “ใครเป็นของปลอม”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้ง อดีตผู้ว่าฯ กทม. คนไหนได้คะแนนเสียงมากที่สุด ?
เปรียบเทียบ ป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับ ป้ายหาเสียงต่างประเทศ
1.2 ความเป็นอิสระ
ผู้ว่าฯ กทม. ที่ไม่สังกัดพรรคหรือเป็นผู้สมัครอิสระ ถ้ามีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) สนับสนุนมากพอก็สามารถบริหารงานได้อย่างราบรื่น
ส่วนผู้ว่าฯ กทม. ที่สังกัดพรรคหากมีเสียง สก. สนับสนุนน้อยก็จะมีปัญหาในการบริหารงาน
ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่สังกัดพรรคหรือไม่สังกัดพรรคก็มีความเป็นอิสระในการทำงานอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถเข้ามาครอบงำได้ถ้าตนเองไม่ยอม ในกรณีสังกัดพรรค ผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำตามคำแนะนำของพรรคก็ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม
ความได้เปรียบ-เสียเปรียบในการสังกัดพรรคหรือไม่สังกัดพรรคจึงอยู่ที่ขั้นตอนการหาเสียง กล่าวคือผู้สมัครที่สังกัดพรรคจะได้เปรียบหากพรรคที่ตนสังกัดอยู่เป็นที่นิยมชมชอบของคนกรุงเทพฯ จะทำให้ได้คะแนนที่เป็นฐานเสียงของพรรคมาเป็นคะแนนตุนไว้ในกระเป๋าก่อน เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้ว ถ้ามีผลงานเป็นที่ประทับใจของคนกรุงเทพฯ ก็จะส่งผลดีไปถึงพรรคที่ตนสังกัดอยู่
1.3 ทีมงาน
ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องมีทีมงานซึ่งประกอบด้วยรองผู้ว่าฯ กทม. และที่ปรึกษาที่มีความรู้ความสามารถตรงกับสายงานที่รับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถสั่งงานและกำกับติดตามงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องไม่แต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้รับตำแหน่งเหล่านี้เพราะได้รับทุนสนับสนุนในการหาเสียง หรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง เนื่องจากจะทำให้การทำงานไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ควรเปิดเผยทีมงานของตนว่ามีใครบ้าง ? และมีคุณสมบัติอย่างไร ?
1.4 ศักยภาพในการประสานงาน
ผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะสามารถแก้ปัญหานานาประการของกรุงเทพฯ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่นหรือจังหวัดในปริมณฑล เช่น การแก้ปัญหาจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขยะ และปัญหา PM 2.5 เป็นต้น ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องมีความสามารถในการประสานงาน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น นักประสานงาน 360° ไม่ใช่ ศิลปินเดี่ยว
2. นโยบาย
นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงจะต้องเป็นนโยบายที่ทำได้จริง ไม่เพ้อฝัน และตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุงเทพฯ ยกตัวอย่างเช่น
2.1 การแก้ปัญหาจราจร
2.1.1 รถไฟฟ้า
กทม. ไม่ควรลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหลัก เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง หากรัฐบาลไม่สนับสนุนเงินให้ กทม. นับเป็นเรื่องยากที่ กทม. จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหลักได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ กทม. ควรหันมาลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายรองทำหน้าที่ขนผู้โดยสารมาป้อน (Feeder) ให้รถไฟฟ้าสายหลัก ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีทองที่ขนผู้โดยสารบริเวณคลองสานมาป้อนให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงสะพานตากสิน-บางหว้าที่สถานีกรุงธนบุรี เป็นต้น รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้เงินลงทุนต่ำกว่ารถไฟฟ้าสายหลัก
2.1.2 จุดเชื่อมต่อการเดินทาง (Intermodal Station)
กทม. ควรเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างหรือปรับปรุงจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ซึ่งเป็นจุดรวมของยานพาหนะหลากหลายประเภท เช่นรถไฟฟ้า รถเมล์ รถตู้ รถสองแถว รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถส่วนตัว และเรือ ให้มีที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่รอรถ และทางเดินที่มีหลังคากันแดดกันฝน เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารในการเปลี่ยนใช้ยานพาหนะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
2.1.3 ระบบจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Traffic System)
กทม. ควรต่อยอดระบบจราจรอัจฉริยะที่ตนได้ริเริ่มไว้ในปี 2548 นั่นคือป้ายจราจรอัจฉริยะที่ติดตั้งคร่อมถนนมีแถบสีเขียว เหลือง และแดง แสดงสภาพการจราจรในถนนสายต่างๆ ช่วยให้ผู้ขับรถเลือกใช้เส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุดได้ ถึงวันนี้ กทม. ควรนำระบบจราจรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้เพิ่มเติม เช่น ติดตั้งป้ายบอกที่จอดรถแบบ Real Time ป้ายนี้จะแสดงจำนวนที่จอดรถที่ว่างในอาคารต่างๆ ในพื้นที่ที่เราต้องการไป ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลานานในการวนหาที่จอดรถ เป็นต้น
2.2 การแก้ปัญหาน้ำท่วม
2.2.1 ทางด่วนน้ำ
กทม. ได้สร้างอุโมงค์หรือ “ทางด่วนน้ำ” เพื่อขนน้ำไปปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ถึงเวลานี้เปิดใช้แล้ว 4 อุโมงค์ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 1 อุโมงค์ กำลังจะก่อสร้างอีก 4 อุโมงค์ แต่อุโมงค์ดังกล่าวไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากน้ำไหลไปถึงปากอุโมงค์ได้ช้า เพราะท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากถนนมีขนาดเล็ก ทำให้เกิดสภาพ “คอขวด” ไม่สามารถขนน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น กทม. จะต้องแก้ปัญหาคอขวด รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ “อุโมงค์” เป็น “ทางด่วนน้ำ” ให้ได้ ดังนี้
(1) ติดตั้งรางรับน้ำ (Gutter) บนถนนชิดทางเท้า
เมื่อฝนตกหนัก จะเห็นว่าน้ำไหลลงบ่อพักได้ช้า ทั้งๆ ที่น้ำในท่อระบายน้ำยังไม่เต็ม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะช่องรับน้ำที่บ่อพักมีขนาดเล็ก ทำให้น้ำไหลลงบ่อพักไม่ทัน น้ำจึงเอ่อล้นถนน วิธีแก้ก็คือจะต้องติดตั้งรางรับน้ำบนถนนชิดทางเท้าที่มีความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ จะช่วยทำให้น้ำบนถนนไหลลงรางรับน้ำและบ่อพักได้อย่างรวดเร็ว ไม่เอ่อล้นบนถนน ซึ่งวิธีนี้ กทม. ได้นำมาใช้แล้ว ปรากฏว่าได้ผลดี ควรทำต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
(2) วางท่อระบายน้ำใหม่แก้ “คอขวด”
กทม. จะต้องเร่งขจัด “คอขวด” ให้หมดไปโดยด่วน โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากท่อเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม. เท่านั้น ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่ง กทม.ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะรับน้ำจากถนนเพื่อขนไปสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว น้ำจากปากอุโมงค์จะไหลไปท้ายอุโมงค์ แล้วถูกสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลให้อุโมงค์ทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างสมบูรณ์
2.2.2 แก้มลิงใต้ดิน
ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อยๆ และไม่มีที่ว่างหรือบึงที่จะสร้างเป็น “บึงแก้มลิง” ได้ จำเป็นต้องสร้างแก้มลิงใต้ดินไว้เก็บน้ำฝนส่วนเกินที่ระบบระบายน้ำจะสามารถรองรับได้ เมื่อฝนหยุดตกและระดับน้ำในท่อระบายน้ำและคลองพ้นวิกฤตแล้ว จึงทยอยระบายน้ำออกสู่ท่อระบายน้ำ คู คลองต่อไป แก้มลิงใต้ดินช่วยลดน้ำท่วมขังในพื้นที่แคบๆ ได้
ถึงเวลานี้ กรุงเทพฯ มีแก้มลิงใต้ดินแล้ว 4 แห่ง ประกอบด้วย (1) บริเวณ สน. บางเขน มีความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตร (2) ปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศก-ดินแดง มีความจุ 1,200 ลูกบาศก์เมตร (3) ใต้ดินรัชวิภา (ถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต) มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และ(4) ใต้ทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
2.3 การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีหลายประการ ในโอกาสนี้ผมขอพูดถึงเฉพาะวิธีแก้ปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและมีใช้กันอยู่แล้ว นั่นคือหอคอยฟอกอากาศ ซึ่งเป็นแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์จีน โดยก่อสร้างหอคอยสูงประมาณ 100 เมตร ที่เมืองซีอาน หอคอยฟอกอากาศมีหลักการทำงานดังนี้ (1) อากาศเสียจะถูกดูดเข้าสู่เรือนกระจกที่อยู่ที่ฐานของหอคอย (2) อากาศเสียเหล่านี้จะถูกทำให้ร้อนโดยพลังงานแสงอาทิตย์ (3) อากาศร้อนจะลอยขึ้นในปล่องของหอคอยผ่านแผ่นกรองหลายชั้น ทำให้อากาศสะอาดขึ้น และ (4) อากาศที่สะอาดขึ้นจะถูกปล่อยออกจากปล่องที่ยอดของหอคอย
จากการทดลองใช้หอคอยนี้ที่เมืองซีอานพบว่าสามารถฟอกอากาศเสียให้เป็นอากาศที่สะอาดขึ้นได้มากกว่าวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ลด PM 2.5 ในพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ลงได้ประมาณ 15% หากผู้ว่าฯ กทม. สนใจแนวทางนี้ก็ควรศึกษาต่อว่าเหมาะสมที่จะประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ หรือไม่ ?
2.4 การแก้ปัญหาอาชญากรรม
แม้ว่าการแก้ปัญหาอาชญากรรมไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ว่าฯ กทม. แต่ผู้ว่าฯ กทม. ก็สามารถสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้หลายวิธี เช่น ติดตั้งกล้อง CCTV บนสะพานลอยคนเดินข้าม แล้วแสดงภาพให้เห็นที่จอซึ่งติดตั้งที่ทางขึ้นบันไดของสะพานลอย ภาพที่จอจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการข้ามสะพานลอยเห็นว่ามีผู้ร้ายแอบอยู่บนสะพานลอยหรือไม่ ?
3. สรุป
วันที่ 22 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ เป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ที่จะได้เลือกผู้ว่าฯ กทม. หลังจากว่างเว้นมานานเกือบ 10 ปี นับเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามความต้องการของเราให้ได้มากที่สุดผ่านผู้ว่าฯ กทม.
ดังนั้น เราจะต้องเฟ้นหาตัวผู้ว่าฯ กทม. จากผู้สมัครทุกคนโดยพิจารณาจากคุณสมบัติและภูมิหลังของผู้สมัครพร้อมด้วยนโยบาย แล้วตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนที่เรามั่นใจว่าสามารถฝากอนาคตของกรุงเทพฯ และของเรา รวมทั้งของลูกหลานเราไว้กับเขาได้” ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ระบุ
ที่มา ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte : คู่มือเลือกผู้ว่าฯ กทม.