svasdssvasds

ทำความรู้จัก “กู้ภัยทางน้ำ” วชิรพยาบาล เรือฉุกเฉินพร้อมออกตลอด 24 ชม.

ทำความรู้จัก “กู้ภัยทางน้ำ” วชิรพยาบาล เรือฉุกเฉินพร้อมออกตลอด 24 ชม.

จากกรณีที่ผู้จัดการของดาราสาว "แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์" ที่เสียชีวิตจากการพลัดตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา พูดถึงกลุ่มอาสากู้ภัยที่ไม่ได้เดินทางมาทางเรือเพื่อค้นหาดาราสาวที่พลัดตกลงไป จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ แล้วไทยมี “กู้ภัยทางน้ำ” หรือไม่ ?

กรุงเทพฯ มีหน่วยกู้ภัยทางน้ำที่เป็นของรัฐไหม ?

วันนี้ Spring จะพามาหาคำตอบว่า กู้ภัยทางน้ำ ที่เป็นของรัฐ เรามีหรือไม่ ? เราจะมาทำความรู้จักกับ หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ฝ่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัย สังกัด คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่พร้อมกู้ชีวิตทั้งบนบกและในน้ำ โดย หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล ให้บริการประชาชนเริ่มแรกโดยการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล ณ จุดเกิด ตลอด 24 ชั่วโมง

ปกติแล้ว หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล มีบุคลากรทางการแพทย์พร้อมรับมือเหตุด่วน-เหตุร้าย ผลัดละ 20-25 คน ทั้งทางบนและทางน้ำ โดยเขตรับผิดชอบทางน้ำจะรับผิดชอบตั้งแต่ สะพานพระราม 7 – สะพานพุทธ แม้อุบัติเหตุจะอยู่นอกเขตพื้นที่ หน่วยกู้ชีวิตฯ ก็สามารถออกไปให้บริการได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ถ้าเกิดเหตุต้องแจ้งอย่างไร ?

หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล สามารถติดต่อผ่านทางสายด่วน 1554 หรือสามารถติดต่อ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.ที่สายด่วน 1669

ขั้นตอนการกู้ชีวิต ของหน่วย หลังจากได้รับแจ้ง

เมื่อ หน่วยฯ ได้รับการประสานงานจากศูนย์วิทยุและสายด่วยทางการแพทย์ต่าง ๆ จะมี ทีมที่ 1 ชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการที่เรืออยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่ไปยังจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด เพื่อให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเมื่อถึงจุดเกิดเหตุและประเมินสถานการณ์ จะที ทีมที่ 2 ซึ่งเป็นทีมแพทย์และพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เสมือนเป็นรถพยาบาลทางน้ำ เมื่อ ทีมที่ 1 ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยทีมแพทย์ในทีมที่ 2 ก็จะเป็นทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล จะทำหน้าที่กู้ชีพหรือกู้ภัย ผู้ประสบเหตุที่อยู่บนผิวน้ำเท่านั้น เช่น เหตุการณ์เรือชนตอหม้อสะพาน เรือล่มแล้วมีผู้โดยสารลอยคออยู่บนน้ำ หรือมีการพลัดตกน้ำแต่ยังเหตุตัวผู้ประสบภัยอยู่ โดยเหตุกู้ภัยใต้น้ำจะถูกส่งต่อให้ทีมอาสากู้ภัยอื่นที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าในการดูแล

เหตุทางน้ำในกรุงเทพฯ อะไรเกิดบ่อยที่สุด ?

ข้อมูลจาก หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล พบว่า เหตุฉุกเฉินทางน้ำของกรุงเทพมหานคร ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ การกระโดดสะพาน จากสะพานพระราม 8 โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 ครั้ง ซึ่งหน่วยฯ ระบุว่า ส่วนใหญ่จะบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต และเหตุรองลงมาคืออุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นน้อยครั้งเมื่อเทียบกับการกระโดดสะพาน

สำหรับสะพานพระราม 8 เอง ปัจจุบันมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันและเตรียมการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปป้องกันการกระโดดสะพานและกู้ชีพได้ทันเวลา

 

ที่มา : หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล

related