svasdssvasds

เอสเอ็มอีแห่ขอสินเชื่อ กระทรวงอุตฯ ขยายกรอบวงเงินอีก 4 พันล้านบาท

เอสเอ็มอีแห่ขอสินเชื่อ กระทรวงอุตฯ ขยายกรอบวงเงินอีก 4 พันล้านบาท

คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ขยายวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากเดิม 2 พันล้านบาทเป็น 6 พันล้านบาท หลังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการขอสินเชื่อจำนวนมาก

เอสเอ็มอีแห่ขอสินเชื่อ กระทรวงอุตฯ ขยายกรอบวงเงินอีก 4 พันล้านบาท นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายกรอบวงเงินสินเชื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้ง 3 โครงการ จากเดิมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการของเอสเอ็มอีที่มีความประสงค์เข้าถึงแหล่งทุนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 3,500 กิจการ

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวเพิ่มเติม จากการที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้เปิดรับคำขอโครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อสร้างโอกาสเสริมสภาพคล่อง SME วงเงิน 500 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SME วงเงิน 500 ล้านบาท ไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 และได้ปิดรับคำขอต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏจำนวนเอสเอ็มอีที่มีความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนยื่นคำขอผ่านช่องออนไลน์จำนวนทั้งสิ้น 3,491 กิจการ เป็นเงิน 9,385 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าวงเงินที่กำหนดตามแผนเดิม

จากสถิติการอนุมัติสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าวงเงินคำขอสินเชื่อทั้งหมดจะได้รับการอนุมัติประมาณร้อยละ 60 หรือจำนวนเงินประมาณ 5,631 ล้านบาท สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุน ฯ ขยายกรอบวงเงินสินเชื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้ง 3 โครงการ จากเดิมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท

นายเดชา กล่าวต่อไปว่า การขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 4,000 ล้านบาทนี้ จะสามารถช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีความต้องการเงินทุนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท และสามารถคงการจ้างงานได้ และ นอกจากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแล้ว กองทุนฯ ยังมีชุดโครงการส่งเสริมพัฒนาต่างๆ ไว้ให้บริการแก่ SME อีกด้วย เช่น การให้คำแนะนำเรื่องการจัดทำแผนความต่อเนื่องของธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Business Continuity Plan การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจด้วยระบบออโตเมชั่น และการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การตลาด เป็นต้น เอสเอ็มอี ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.thaismefund.com หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โทร. 02-354-3310 หรือ E-mail : [email protected]