svasdssvasds

กระทรวงอุตฯ ปั้น “มัดทอใจ” แบรนด์ผ้าไหมไทยตอบโจทย์สาวยุคใหม่

กระทรวงอุตฯ ปั้น “มัดทอใจ” แบรนด์ผ้าไหมไทยตอบโจทย์สาวยุคใหม่

กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พัฒนาผู้ประกอบการ ยกระดับผ้าไหมท้องถิ่น 4 จังหวัดภาคอีสาน พร้อมเปิดคอลเลคชั่นใหม่ “มัดทอใจ มรดกผ้าไทย ร่วมสมัย” สร้างมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50 % ตั้งเป้าสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

วรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง โดยสนับสนุนให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น ซึ่งมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ และสกลนครเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 (ระยะที่1) ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผ้าทอพื้นเมือง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องแต่งกายผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและสร้างรายได้ในท้องถิ่น ก่อให้เกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาต่อยอดการดำเนินธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอและวิสาหกิจชุมชน ขับเคลื่อนต่อเนื่องจนถึงปี 2564 (ระยะที่3) โดยผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ประกอบการและวิสาหกิจกว่า 1,515 คน ได้รับการฝึกอบรมเข้าปฏิบัติการและมีการพัฒนาผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้าและAccessories กว่า 120 ผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มและแตกต่างผสมผสานกับเทคโนโลยี และการส่งเสริมด้านการตลาด

ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการในปี 2564 นี้ได้มีการศึกษาวัฒนธรรมและวิถีท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างลายมัดหมี่แบบใหม่ที่ทันสมัยแต่รักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมนำวัสดุเส้นด้ายคลอลาเจน ที่มีคุณสมบัติกักเก็บความชุ่มชื่นให้แก่ผิว มาทอร่วมกับผ้าไหม  และออกแบบตัดเย็บโดยดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ๆ โดย “มัดทอใจ : มรดกผ้าไทยร่วมสมัย” (Mud Tor Jai: Modern Heritage Thai Textile) ในคอลเล็คชั่นปี 2021 คือ “Modern Legacy Thai Silk”  แบ่งออกเป็น 3 แนวคิด 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่

1. The Mystery of Love : จังหวัดสุรินทร์ และนครราชสีมา ลวดลายผ้าไหมแนวคิด “ถิ่นช้างใหญ่” เอกลักษณ์ประจำจังหวัดสุรินทร์ โดยใช้รูปทรงใบหู รอยยับย่น ลายเส้นของผิวหนังช้างที่หนาแต่ละเอียดอ่อน และการใช้แนวคิด “ปราสาทหินพิมาย” ของจังหวัดนครราชสีมา โดยการนำรูปทรงเรขาคณิตของซุ้มประตู ชั้นระเบียง ขั้นบันไดของปราสาท ลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ใช้การย้อมสีจากธรรมชาติโทนสีดำ สีเทาถ่าน และเฉดสีน้ำเงินกรมท่า เพื่อสื่อถึงห้วงอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิง สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ตกแต่งด้วยผ้ากำมะหยี่เนื้อละเอียด เสริมลุคให้ดูโดดเด่น สร้างความหรูหราให้กับผู้หญิง และการถ่ายทอดรูปแบบการผสมผสานระหว่างผ้าไหมของจังหวัดนครราชสีมากับผ้าตาข่ายเนื้อโปร่ง สะท้อนบุคคลิกภาพของผู้หญิงสวยเทห์ได้เป็นอย่างดี

 

2. The Glory of Sunset Delight  : จังหวัดสกลนคร และขอนแก่น ลวดลายผ้าฝ้ายแนวคิด “อาคารโบราณหมู่บ้านท่าแร่” ที่จังหวัดสกลนคร โดยใช้ลวดลายจากอาคาร บ้านโบราณ ระเบียง หรือซุ่มประตู ผ่านมุมมองใหม่ และการใช้แนวคิด “ไดโนเสาร์ภูเวียง” ของจังหวัดขอนแก่น โดยการนำลักษณะรูปร่างซากดึกดำบรรพ์ รูปทรงชั้นหิน และใช้เทคนิคพิเศษทอแบบเกาะล้วงให้เกิดพื้นผิวทั้งเรียบและขรุขะเสมือนชั้นหิน ลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ใช้การย้อมสีธรรมชาติในโทนสีครีมน้ำตาล และโทนสีน้ำตาลหลากหลายเฉด ทั้งสีเข้มและสีอ่อน เพื่อสื่อถึงความมีอิสระ การมีชีวิตเบิกบาน สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายผ้าฝ้ายของจังหวัดสกลนคร ถ่ายทอดรูปแบบชุดวินเทจ ลักษณะแขนเสื้อตุ๊กตา หรือการจับจีบที่ปกเสื้อและกระโปรง เสริมลุคผู้หญิงให้มีความสุภาพอ่อนน้อม และผ้าไหมอีรี่ของจังหวัดขอนแก่นถ่ายทอดผ่านการตกแต่งด้วยเข็มขัดที่เอว หรือกระเป๋าบนเสื้อและกระโปรง  สะท้อนถึงบุคคลิกภาพของผู้หญิงแกร่งได้เป็นอย่างดี

3. ESAN Fashion Yong Thai : ผ้าไหมและผ้าฝ้ายมัดหมี่เป็นผ้าลวดลายดั้งเดิม ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่แคนแก่นคูน ของจังหวัดขอนแก่น ผ้าไหมหางกระรอก ของจังหวัดนครราชสีมา ผ้าไหมมัดหมี่โฮล ของจังหวัดสุรินทร์ และผ้าฝ้ายมัดหมี่สะเก็ดธรรม ของจังหวัดสกลนคร โดยเน้นการแปรรูปผ้าไทยดั้งเดิมจากท้องถิ่นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ถ่ายทอดรูปแบบการตัดเย็บการประยุกต์ความเป็นไทยและผสมผสานกับแนวตะวันตก เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

ผลิตภัณฑ์ในโครงการ

ในภาพรวมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น ปีงบประมาณ 2564 มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอผ่านการพัฒนาและออกแบบในความเป็นไทย บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการผ้าพื้นเมือง 345 คน มีการพัฒนาผ้าไหมลวดลายใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้า Accessories 44 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ “มัดทอใจ : มรดกผ้าไทยร่วมสมัย” โดยมีมูลค่าสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 50%   รวมทั้งสร้างความร่วมมือแฟชั่นระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงการผลิต เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย และสร้างโอกาสทางการตลาดอาเซียน+3

ผลิตภัณฑ์ในโครงการ

ทั้งนี้ได้เผยแพร่โดยการจัดส่งหนังสือรวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าไหม (LookBook) ให้ผู้ประกอบการสิ่งทอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดหรือรับชมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้ที่

LookBook : www.thaitextile.org/th/insign/downloadsrc.preview.57.html 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายนโยบายและแผน สำนักผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ 241 รายละเอียดเพิ่มเติม www.thaitextile.org  FB : Thailand Textile Institute

​​​​​​

related