พบรอยรั่วจุดที่ 2 ที่ท่อส่งน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ขณะนี้บริษัทฯ ทำหนังสือแจ้งขออนุญาตกรมเจ้าท่าจังหวัดระยอง เพื่อขอเข้าพื้นที่ไปซ่อมจุดรั่วในทะเล
หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเล ของ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ซึ่งคราบน้ำมันได้ลอยเข้ามาชายฝั่ง ทำความเสียหายที่ชายหาดแม่รำพึง โดยบริษัทแจ้งว่ามีจำนวน 47,000 ลิตร แต่หลายฝ่ายคาดว่าจำนวนน้ำมันที่รั่วจริงอาจมีมากกว่านี้ โดยคำนวณจากสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา SPRC มีหนังสือแจ้งเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ส่งถึงผู้อำนวยการสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประกาศภาวะฉุกเฉินน้ำมันรั่วไหล เทียร์ 1 (น้ำมันรั่วไหลขนาดเล็ก ไม่เกิน 20 ตัน) พบฟิล์มน้ำมันดิบ (สีเงิน) บริเวณทิศเหนือ ห่างจากทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ประมาณ 3 ไมล์ ครั้งนี้บริษัทระบุมีน้ำมันรั่ว 5,000 ลิตร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ซ้ำสองในเวลาไม่ถึงเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• สรุปให้...น้ำมันรั่ว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหนักขนาดไหน?
• ด่วน! น้ำมันรั่วกลางทะเลระยองจุดเดิม - SPRC ประกาศภาวะฉุกเฉิน Tier 1 เร่งคุม : Breaking News
• น้ำมันรั่วมาบตาพุด สู่ย้อนเหตุการณ์ ถอดบทเรียนน้ำมันรั่ว ครั้งสำคัญของโลก
ล่าสุดในโลกโซเชียลมีเดียวพบว่ามีการแชร์เอกสารหนังสือของ SPRC ที่ส่งถึงสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด จ.ระยอง เรื่อง แจ้งขอปฏิบัติงานพันท่อเพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำมัน โดยแนบหนังสือขั้นตอนหยุดการซึมของน้ำมันและพันปิดรอยรั่วที่ท่ออ่อนใต้ทะเล ซึ่งแสดงว่าพบจุดเสี่ยงน้ำมันรั่วของท่อขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลระยองเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้รายละเอียดของหนังสือดังกล่าว อ้างถึงรายงานการเคลื่อนย้ายท่ออ่อนก่อนหน้านี้ทำให้สำรวจพบจุดที่เสียหายเพิ่ม จึงต้องนำวัสดุมาคลุมท่ออ่อนในจุดดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำมัน จึงทำหนังสือขออนุญาตดำเนินการ ซึ่งต้องทำโดยเร็วเพื่อป้องกันน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ทั้งนี้หนังสือยังระบุถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่างๆ เข้าดูแลควบคุมการปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่ทะเล โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 3 วัน
การเตรียมการสำหรับรองรับกรณีฉุกเฉิน
1. ติดตั้งเต็นท์ดักจับน้ำมันบริเวณด้านบนของจุดรอยรั่ว
2. เตรียมเรืออย่างน้อย 10 ลำ สำหรับลากบูมอย่างน้อย 5 ปาก โดยเรือทุกลำสามารถใช้สำหรับฉีดสารขจัดคราบน้ำมัน dispersant
3. เตรียมเรืออย่างน้อย 3 ลำ สำหรับการฉีดสาร dispersant พร้อมแขนฉีด
4. ติดตั้งทุ่นกักน้ำมัน (boom) และอุปกรณ์กวาดน้ำมัน (skimmer) บริเวณที่ปฏิบัติงาน
5. นักดำน้ำ ดำบริเวณจุดที่มีรอยรั่ว เพื่อสังเกตุตลอดเวลาการทำงาน พร้อมโดรนใต้น้ำเพื่อบินสำรวจใต้ทะเล
6. โดรนอากาศยาน เพื่อบินสำรวจทางอากาศ