นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลครั้งใหญ่ ครั้งใหม่ของไทย กับการเกิดเหตุน้ำมันรั่ว ถึง 400,000 ลิตร โดยจุดที่เกิดเหตุคือ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากเหตุการณ์ครั้งนี้ สู่ย้อนรอยสู่เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ของโลกในอดีต และมาถอดบทเรียน น้ำมันรั่วในอดีต
นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลครั้งใหญ่ ครั้งใหม่ของประเทศไทย กับการเกิดเหตุน้ำมันดิบ ปริมาณมหาศาล ใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก รั่วไหล 400,000 ลิตร โดยจุดที่เกิดเหตุคือ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ล่าสุด ควบคุมน้ำมันดิบให้หยุดรั่วไหลได้แล้ว แต่สิ่งที่เล็ดลอดออกมาในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ยังประเมินมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ในเวลานี้
.
จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมา การรั่วไหลครั้งนี้ มีปริมาณถึง 400,000 ลิตร แม้หากไปลองเปรียบเทียบกับการ รั่วไหลของน้ำมันที่เคยเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโลกที่เคยเกิดขึ้นนั้น อาจจะเทียบกันไม่ได้ แต่ จำนวนน้ำมันมากมายมหาศาลแบบนี้ ย่อมส่งผลกระทบชิ่งล้มตามกันเป็นโดมิโน่ ต่อระบบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์บริเวณใกล้เคียงอย่างแน่นอน และต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู
.
สำหรับ ในอดีต เคยมีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ครั้งใหญ่ของโลก มาหลายต่อหลายครั้ง และแต่ละครั้งมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง หากนำ การถอดบทเรียน วิกฤตในอดีต ก็น่าจะมี ประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในครั้งนี้ได้ SPRiNG พาไปย้อนดู สามารถเหตุการณ์ที่เกิดน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ และสำคัญๆของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1. น้ำมันรั่วในสงครามอ่าว : มกราคม 1991- อ่าวเปอร์เชีย คูเวต
.
ในเหตุการณ์น้ำมันรั่วในสงครามอ่าวเปอร์เซียนั้นมีปริมาณการรั่วของน้ำมัน เป็นจำนวนมหาศาล 136 - 205 ล้านตัน และกินเวลายาวนานไปถึงช่วงพฤศจิกายนในปีเดียวกัน ซึ่งที่กินเวลายาวนาน นั่นเป็นเพราะมันเป็นช่วงเวลาแห่งสงคราม เหตุการณ์ครั้งนั้นแม้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ เพราะมันเป็นฝีมือมนุษย์ เนื่องจาก ฝั่งอิรักเผาบ่อน้ำมัน 600 บ่อ ทำให้น้ำมันดิบกว่า 900 ล้านลิตรที่ไหลลงทะเล ส่งผลให้ผืนน้ำแถวนั้นมีน้ำมันหนา 4 นิ้ว ลอยกระจายเต็มชายฝั่ง กินพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตรใหญ่กว่าเกาะฮาวาย นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
.
ทางแก้ในตอนนั้นคือ ที่ชายฝั่งทะเล มีการทุ่นน้ำมัน (boom) จากสหรัฐฯ แนวสีส้มเพื่อซับน้ำมันยาว 38 กิโลเมตร พร้อมด้วยเครื่องเก็บคราบน้ำมัน (skimmer) ดูดน้ำมันออกจากน้ำ ซึ่งติดตั้งไว้ 21 เครื่อง และใช้รถบรรทุกขนน้ำมันที่ดูดขึ้นมาได้ประมาณ 200 ล้านลิตร ในเวลานั้นน้ำมันครึ่งหนึ่งที่รั่วลงทะเลนั้นระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และ 1 ใน 8 คือปริมาณที่ดูดขึ้นมาได้ ส่วนอีก 1 ใน 4 ไหลไปตามชายฝั่งโดยเฉพาะชายฝั่งของซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า บางชายหาดที่ไม่ได้มีการกำจัดคราบน้ำมัน แม้จะผ่านมานับสิบปีแล้ว แต่มลพิษได้ทำลายระบบนิเวศน์ไป
2. น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในโลกยุคใหม่ Deepwater Horizon - เมษายน 2010 อ่าวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา
.
เหตุการณ์ Deepwater Horizon นับเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2010 ครั้งนั้นมี ปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันราวๆ 470,770 ตัน
.
เหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก Deepwater Horizon ระเบิด ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ นกทะเลจำนวนกว่า 800,000 ตัว เต่าทะเล 65,000 ตัว วาฬและโลมาอีกร่วม 1,400 ตัว และยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหาย และผลกระทบระยะยาวอีกมากมายที่ตามมา
.
เหตุการณ์ Deepwater Horizon น้ำมันดิบรั่วไหลจากช่องเปิดใต้ทะเลก้นอ่าวเม็กซิโกเป็นเวลานาน 87 วัน กินน้ำพื้นที่ปนเปื้อน 6,500 - 24,000 ตารางกิโลเมตร (เทียบเท่าพื้นที่กับนครราชสีมา) น้ำมันบางจุดหนาถึง 91 เมตร พร้อมกับรายงานว่าสัตว์ 8,000 ตัว ตายภายใน 6 เดือนหลังจากเกิดเหตุ นับเป็นการน้ำมันรั่วไหลนอกชายฝั่งครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยย้อนเข็มนาฬิกากลับไปในช่วงเวลานั้น น้ำมันที่ลอยอยู่ในทะเล ได้มีการนำเรือติดตั้งเครื่องเก็บคราบน้ำมันมากกว่า 2,000 เครื่อง และวางแนวทุ่นซับน้ำมัน แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เมื่อคลื่นลมแรงทำให้น้ำมันลอดผ่านทุ่นไปได้
.
มีการใช้สารเคมีโปรยไปตามบริเวณคราบน้ำมัน แต่ในเวลา 2 ปี หลังจากโรยสารเคมี มีผลการศึกษาพบว่าสารคอเรกซิต (Corexit) ที่ใช้นี้เพิ่มความเป็นพิษในน้ำมันมากถึง 52 เท่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลือกวิธีที่ผิดพลาด
.
ทั้งนี้ บริษัท บีพี ที่เป็นต้นเหตุของการรั่วไหลของน้ำมัน กำจัดคราบน้ำมันตามชายฝั่ง ด้วยการร่อนทราย เอาคราบน้ำมันที่จับเป็นก้อนออก ในช่วงที่ต้องช่วยกันอุดรอยรั่ว ขจัดคราบน้ำมัน บางวันต้องใช้คนงานมากถึง 47,000 คน
.
3.น้ำมันรั่วครั้งล่าสุดจากสึนามิตองกา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบให้เกิดเหตุน้ำมันรั่วด้วย เพราะมันทำให้เกิดเหตุโรงกลั่นน้ำมัน "ลา แปมปิญา" "เรปโซล" บริษัทสัญชาติสเปน ทำน้ำมันดิบ 6,000 บาร์เรลรั่วไหลลงทะเล ซึ่งแม้ปริมาณมันจะไม่เยอะ หากเทียบกับการรั่วไหลครั้งใหญ่ๆ แต่มันก็ส่งผลให้ เปรู ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 90 วัน
.
ทางการเปรูเร่งกำจัดคราบน้ำมันเป็นการด่วน ขณะที่ ประชาชนบางส่วนที่อยากช่วย พร้อมใจกันออกไปตัดผม ตามร้านเสริมสวยและเต็นท์รับตัดผม เพื่อนำเส้นผมบริจาคไปใช้ในการทำ "ทุ่นเส้นผม" ขจัดคราบน้ำมันมหาศาลที่ยังลอยอยู่บนผิวน้ำในทะเลบริเวณชายหาดของเมืองท่ากายาโอ ใกล้กับกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู