รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยืนยัน ไม่เคยปกปิดเรื่องโรค ASF แต่ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างดีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนเงินเยียวยาเป็นการชดเชยตามมาตรการควบคุมไว้ก่อน ไม่ใช่จ่ายให้หมูที่ป่วยแล้ว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรณีที่มีการตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) กรมปศุสัตว์ได้ส่งชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น และนำไปตรวจหาโรคส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์
สำหรับเงินเยียวยา เป็นค่าเสียหายตั้งแต่ปี 2562 ที่ภาคเอกชนลงขันกัน กรณีมีความจำเป็นต้องทำลายหมูในกลุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดโรค หากคาดว่าจะเกิดโรคก็ทำลายทิ้งก่อน แล้วจ่ายชดเชยประมาณ 70% ของราคา โดยจ่ายเฉพาะรายย่อยเท่านั้น และได้ดำเนินการต่อเนื่องมา
กระทั่งเอกชนบอกว่านี่คือมาตรการป้องกันการระบาดของโรค ขณะนี้เงินลงขันกว่าร้อยล้านนั้นหมดแล้ว จึงมีการประชุมคณะกรรมการและนำเสนอไปยังรัฐบาลว่า การควบคุมการระบาด การป้องกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล นี่คือที่มาในการของบประมาณกลางเพื่อนำมาเยียวยา ไม่ใช่หมูตายหรือหมูเป็นโรคแล้วเยียวยา เป็นเพียงหมูที่มีความเสี่ยง สมมุติว่าเลี้ยงในพื้นที่เสี่ยงเกิดโรคก็จะทำลายก่อนเพื่อไม่ให้เป็นต้นตอของโรค เงินเยียวยามาจากตรงนี้ ไม่ใช่เยียวยาหมูที่เป็นโรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ส่องแผนแก้ เนื้อสัตว์แพง เนื้อหมูแพง ของสหรัฐฯ โจ ไบเดน ทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์
• กรมปศุสัตว์รับแล้ว พบ ASF จากโรงฆ่าสัตว์ในนครปฐม ยันไม่ส่งผลกระทบผู้บริโภค
ส่วนงบประมาณกลางที่ ครม.อนุมัติกว่า 574 ล้านบาทนี้เป็นก้อนสุดท้าย เพื่อเยียวยาการทำลายหมูแสนกว่าตัว ส่วนที่ขอไปประมาณ 1,700 ล้านบาท เพราะยังมีมาตรการส่วนป้องกัน การทำงานของเจ้าหน้าที่ ยาฆ่าเชื้อ และขอเผื่อหากมีความจำเป็นต้องทำลายสุกร ซึ่งบอกล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะทำตรงไหน แต่เมื่อสำนักงบประมาณพิจารณาว่าหลักเกณฑ์ของทางราชการ สามารถจ่ายได้เฉพาะส่วนที่ทำไปแล้ว กระทรวงฯ ก็ทำไปตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร
สำหรับงบเพื่อใช้ป้องกันนั้นกรมปศุสัตว์มีอยู่แล้ว แต่เกรงไม่เพียงพอก็เสนอของบกลางไป อย่างกรณีเจ้าหน้าที่ตรวจตั้งแต่สนามบิน ทุกด่านที่เปิด ทุกเส้นทาง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาในประเทศไทย คณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้มาจากทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง และดูแลไปจนถึงเศษอาหารจากโรงแรม ร้านอาหาร บ้าน ก็ให้ตรวจสอบ เพราะหากมีเชื้อปนเปื้อนมาในเศษอาหารแล้วนำไปเลี้ยงหมู ก็ทำให้เกิดโรคได้ แต่ยืนยันว่าเชื้อนั้นไม่ติดคน มาตรการที่ทำลงลึกขนาดนี้ เป็นการป้องกัน ไม่ได้มีการปิดบัง เพราะไม่มีประโยชน์
รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวถึงการตรวจยืนยันโรค ASF ว่า การตรวจพบเชื้อก็ต้องเป็นการตรวจตามมาตรฐานการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับ ส่วนที่ไม่ชดเชยรายกลาง รายใหญ่ เพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว มีอุปกรณ์ มีเครื่องมือมากกว่ารายย่อย จึงต้องดูแลรายย่อยมากกว่า
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำแค่การควบคุม โรคนี้เกิดมาร้อยปีโดยไม่มีวัคซีน ก็ได้ทำ MOU ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันผลิตวัคซีน ซึ่งคืบหน้าไปมาก ถ้าทดลองสำเร็จอีก 2 ขั้นตอน ไทยจะเป็นประเทศแรกที่ผลิตวัคซีนได้ ยืนยันว่าไม่ได้ทิ้ง ไม่ได้ปกปิด พยายามป้องกันทุกอย่างจน OIE มีหนังสือชื่นชม สำหรับรายละเอียดทั้งหมดจะชี้แจงอีกครั้งว่าปี 2562 2563 2564 ทั้งปี ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง รวมถึงกรณีภาคีคณบดีสัตวแพทย์ทำหนังสือมานั้น ตนเองเพิ่งเซ็นคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าทำไมกรมปศุสัตว์จึงไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว