ด่านชายเเดนไทย - ลาว คุมเข้ม หลังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระบาดหนักใน สปป. ลาว - ด้าน ก. เกษตร ฯ มั่นใจไทยเอาอยู่ เพราะมีมาตรการควบคุมมาตั้งเเต่ก่อนหน้านี้เเล้ว
หลังมีข่าวการแพร่ระบาดเกี่ยวกับ "โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร" แพร่กระจายฟาร์มเลี้ยงสุกร 7 พื้นที่ในแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ส่งผลให้ ขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องในไทย ได้มีการเพิ่มมาตรการการตรวจสอบเเละควบคุม การนำเข้าและส่งออก เนื้อสัตว์รวมถึง ซากสัตว์ ตามตาดจุดผ่อนปรนชายแดน
โดยด่านกักกันระหว่างประเทศด่านหนองคาย วันนี้ได้ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่จะผ่านเข้าด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทุกคัน โดยช่วงนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นยาฆ่าเชื้อ 1 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร จากเดิม ยาฆ่าเชื้อ 1 ลิตร ต่อน้ำ 600 ลิตร เพื่อการป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับยานพาหนะที่จะเดินทางเข้าประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยฉีดพ่นผ่านระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ ตั้งแต่เปิดด่านฯ จนถึงปิดด่าน คือ 06.00 – 22.00 น.ทุกวัน
นอกจากนี้ ปีนี้ยังได้ทำจุดทำลายเชื้อบริเวณหน้าทางเข้าอาคารผู้โดยสารขาเข้า โดยได้นำยาฆ่าเชื้อมารดผ้าให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศได้เหยียบ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคระบาดที่อาจจะติดมากับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศอีกด้วย
ส่วนที่ จ. นครพนม ขณะนี้ได้มีการประกาศห้ามไม่ให้มีการนำเข้า เนื้อสัตว์ป่า ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ ที่จะเกิดอันตรายต่อคน รวมถึงห้ามนำเนื้อสัตว์ป่า นำเข้า พร้อมแจ้งเตือนประชาชน ในช่วงนี้งดรับประทาน เนื้อสัตว์ป่า ไม่ควรรับประทานเนื้อดิบ ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มมาตรการเข้มตามด่านชายแดนระหว่างประเทศ
ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการรับมือ ว่า มั่นใจเอาอยู่ เพราะประเทศไทยมีมาตรการป้องกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ห้ามนำเข้าสุกรทุกชนิด ทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร การเข้มงวดตรวจสอบของด่านตรวจทุกด่านทั้งทางบกและทางน้ำ รวมทั้งทุกด่านตามท่าอากาศยาน ซึ่งครม.อนุมัติแผนใช้จ่ายงบประมาณ ในการดำเนิน งานเฝ้าระวังป้องกัน ทั้งสิ้น 148 ล้าน 542,900 บาท ปีงบประมาณ 62 เป็นเงิน 53 ล้าน 604,900 บาท ใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในปีงบประมาณ 63 เป็นเงิน 52 ล้าน 419,000 บาท และปีงบประมาณ 64 เป็นเงิน 42 ล้าน 519,000 บาท
ซึ่งโรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุกร หากติดเชื้อไวรัสพาหะ อัตราการตายของสุกรเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เเละสุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต