“หัวลำโพง” สถานีรถไฟเก่าแก่อายุ 105 ปี จะเหลือเพียงตำนานให้จดจำ ใครที่เคยขึ้นรถไฟไปเหนือล่องใต้ ต้องเตรียมตัวย้ายจุดขึ้นรถต้นทางไปขึ้นที่ “สถานีกลางบางซื่อ” ตั้งแต่ 23 ธ.ค.64
“หัวลำโพง” สถานีรถไฟเก่าแก่อายุ 105 ปี จะเหลือเพียงตำนานให้จดจำ ใครที่เคยขึ้นรถไฟไปเหนือล่องใต้ ต้องเตรียมตัวย้ายจุดขึ้นรถต้นทางไปขึ้นที่ “สถานีกลางบางซื่อ” ตั้งแต่ 23 ธ.ค.64 และอาจต้องศึกษาว่า รถไฟสายไหนสามารถเชื่อมต่อเข้าเมืองได้ที่สถานีต้นรถไฟไหนได้บ้าง ข้อสำคัญ คือ เรื่องของค่าโดยสารที่อาจต้องเตรียมควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นด้วย
สรุปให้ เรื่องย้ายบริการของสถานีรถไฟหัวลำโพง
1.ชัดเจนแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2564 จะไม่มีรถไฟเข้าไปจอดที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแล้ว หมายความว่า สถานีรถไฟอายุ 105 ปี จะหมดภารกิจในการให้บริการประชาชน
2.รถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง ย้ายสถานีปลายทาง และ ต้นทาง มาจอดที่สถานีกลางบางซื่อ
3.สาเหตุที่ต้องย้ายสถานีต้นทางรถไฟ เพราะกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกล ปรับสถานีปลายทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน
4.จากนี้ผู้โดยสารจะเดินทางเชื่อมต่อเข้าเมืองอย่างไร? คำตอบคือ
- รถไฟสายเหนือ และ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถลงรถได้ที่สถานีรังสิต เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เข้าสู่ใจกลางเมือง หรือ เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง
- รถไฟสายตะวันออก หากจะเข้าเมือง ลงรถได้ที่สถานีมักกะสัน และ ที่หยุดรถอโศก หากจะเข้าเมืองต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีเพชรบุรี หรือ เดินทางด้วยรถไฟฟ้า Airport Rail Link สถานีมักกะสัน หรือ เชื่อมต่อรถโดยสารประจำทาง
- รถไฟสายใต้ เชื่อมต่อการเดินทางไปยังจุดอื่นๆ โดยลงรถที่ชุมทางตลิ่งชัน สามารถต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง หรือ ขึ้นรถประจำทางสายต่างๆ
5.ผู้โดยสารต้องปรับตัวอย่างไร ?
ผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองอาจต้องเตรียมตัวรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คนที่เดินทางจากรังสิต เดิมจ่ายค่าโดยสารรังสิต-หัวลำโพง จ่ายค่าโดยสาร 6 บาท แต่รถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน จะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 คิดค่าโดยสารในอัตราเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท
6.แล้วสถานีรถไฟหัวลำโพงจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชี้แจงว่า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก
ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง เน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และ เพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยจะอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน
5.แนวทางพัฒนาพื้นที่ 120 ไร่ รอบสถานีรถไฟหัวลำโพง แบ่งออกเป็น 5 โซน
โซน A เนื้อที่ 16 ไร่ ส่วนของอาคารสถานีหัวลำโพง-พื้นที่สาธารณะ
โซน B เนื้อที่ 13 ไร่ มีแผนปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์
โซน C เนื้อที่ 22 ไร่ กำหนดให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม เน้นความเป็นพื้นที่สีเขียวโดยรอบโครงการ โดยมีต้นแบบมาจากเวนิส อิตาลี
โซน D เนื้อที่ 49 ไร่ พื้นที่ชานชาลา เส้นทางทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยนการเดินรถ มีแผนพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบมิกซ์ยูส เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และ ห้างสรรพสินค้า โดยยึดต้นแบบ โตเกียว มิดทาวน์
โซน E เนื้อที่ 20 ไร่ อาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุเดิม มีแผนพัฒนารูปแบบ มิกซ์ยูส ยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน