8 ปีแห่งการรอคอย “สมรสเท่าเทียม” ของเพศทางเลือก กลุ่มเพศทางเลือกรอลุ้นสภาคลอดกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังศาลรธน.เปิดทาง ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตรากฎหมายรับรองสิทธิและหน้าที่บุคคลหลากหลายทางเพศ
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อวินิฉัย กรณี น.ส.เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และ น.ส.พวงเพชร เหมคำ คู่รักที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 แต่กลับถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้ง 2 จึงยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส และหากนายทะเบียนปฏิเสธ ให้ส่งคำร้องโต้แย้งข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะเพศชายและหญิง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 หรือไม่
กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้มีข้อความใดคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในส่วนนี้
ส่วนกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 25,26 และ 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดแย้ง แต่ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เมื่อญี่ปุ่นห้ามคนขัดขวาง LGBT แต่งงาน : จุดประกายคู่รักเพศเดียวกัน
แอนนา ทีวีพูล ผ่าความจริง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แค่สีสันและการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล
ในมุมมองของนักกฎหมาย วิเคราะห์ว่า
1.การจดทะเบียนสมรส ทำได้เฉพาะชายและหญิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
2.ประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เป็นบททั่วไปเท่านั้น
3.หากจะให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ ในการสมรสระหว่างเพศทางเลือก เป็นหน้าที่ของรัฐในการออกฎหมายรับรอง ซึ่งควรจะเป็นกฎหมายฉบับใหม่มากกว่าจะไปแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา
นักกฎหมาย แนะนำว่า การใช้ชีวิตในฐานะคู่ชีวิตของเพศทางเลือก หรือ กลุ่มคนข้ามเพศ หากไม่ใช่คู่สมรส ตามกฎหมาย ยังสามารถใช้สิทธิ์ต่างๆ ได้หลายด้าน เช่น การถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน เช่น บ้าน ที่ดิน สามารถยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 เกี่ยวกับเรื่องของมรดก หรือ การอุปการะบุตรบุญธรรม ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังมองว่า คู่ชีวิตที่ไม่ได้มีทะเบียนสมรสตามกฎหมาย การแยกทาง หรือ เลิกร้าง จะดำเนินการง่ายกว่า ไม่ต้องเกิดปัญหาเรื่องฟ้องหย่า ขณะเดียวกันหากเกิดความรุนแรงในครอบครัว ถูกทำร้ายร่างกายจะมีโทษทางอาญาที่รุนแรงกว่ากฎหมายครอบครัวด้วย
สำหรับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ถูกมองว่าจะเป็นคำตอบในการใช้ชีวิตร่วมกันของกลุ่มเพศทางเลือกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังการผลักดันมาราว 8 ปี ล่าสุดกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว และ ปรับเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิ์ของคู่ชีวิตในระดับที่ใกล้เคียง กับ คู่สมรส เช่น คู่ชีวิตสามารถเข้าถึงทรัพย์สินร่วมกัน และร่วมกันทำธุรกรรมได้ เช่น กู้ซื้อบ้านร่วมกัน อุปการะบุตรบุญธรรม การฟ้องหย่าได้เหมือนคู่สมรส และ ฟ้องร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู รวมทั้งการรับมรดกตามกฎหมาย
แม้ว่ากระทรวงยุติธรรม จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อให้การสมรสระหว่างกลุ่ม LGBTQ หรือเพศทางเลือก มีผลตามกฎหมาย แต่ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล สนับสนุนและเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ “สปริงนิวส์” ว่า เขาคาดหวัง 100 เปอร์เซนต์ว่าร่างกฎหมายที่ให้สิทธิคู่สมรสเพศทางเลือกจะผ่านความเห็นชอบของสภา แม้จะต้องต่อสู้กันระหว่างการตรากฎหมายฉบับใหม่กับการแก้ไขประมวลกฎหมายเดิม โดยคาดว่า น่าจะเริ่มพิจารณาได้ในปีหน้า
“ส่วนตัวก็มีความเชื่อว่า เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่มีใครสามารถมาพรากจากเราไปได้ ในการมีตัวตน ในการจะสร้างครอบครัวที่ต้องมีความเสมอภาคกัน ดังนั้นการสมรสเท่าเทียม ต้องเป็นระหว่าง บุคคล กับ บุคคล ไม่ใช่ ชายกับหญิง ดังนั้นต้องมาสู้กันผ่านกระบวนการในรัฐสภา และฟังเสียงของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะชาว LGBTQ มี ความสำคัญมากที่สุด”
นายธัญวัจน์ เรียกร้องไปยังชาว LGBTQ หากต้องการอย่างไรควรออกมาสะท้อนความเห็น แต่ควรศึกษา หาความรู้โดยละเอียดก่อน ไม่ใช่แค่ส่งเสียงเพราะใครบอกมา
ขณะที่นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฏหมายที่ทำขึ้นเพื่อให้เกิดศัพท์ของของ LGBTQ ในทางกฏหมาย เมื่อกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นแล้ว จากนั้นกฏหมายอื่นๆก็จะแก้ไขตามมา เพื่อให้สิทธิ์ของเพศทางเลือกอย่างเท่าเทียม
ส่วนประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันมานาน เรื่องสิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน ของคู่สมรส ในร่างกฎหมายคู่ชีวิต ที่จริงเท่ากันทุกอย่าง เหลือเพียงสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวกับ สวัสดิการรัฐ เช่น สวัสดิค่ารักษาพยาบาลของคู่สมรส LGBTQ ที่เป็นข้าราชการ เนื่องจากไม่มีข้อมูลว่าใน ไทยมี LGBTQ ที่เป็นข้าราชการมากแค่ไหน ต้องใช้งบประมาณเท่าไร ตอบกระทรวงการคลังไม่ได้ ซึ่งกระทรวงการคลังขอเวลา 3 ปีหลังกฏหมายฉบับใหม่ออกมา จะเร่งจัดการให้มีความเท่าเทียมกันทุกประการ